วันพุธที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ลาออกจากมรดกโลก: บนความสูญเสียของใคร?


โดย พวงทอง ภวัครพันธุ์
การประกาศแบบฟ้าผ่าของนายสุวิทย์ คุณกิตติ ว่าประเทศไทยขอถอนตัวจากการเป็นภาคีของอนุสัญญามรดกโลกนับเป็นชัยชนะอีกครั้งหนึ่งของกลุ่มชาตินิยม โดยที่ไม่มีความชัดเจนว่าอะไรคือเหตุผลร้ายแรงที่ทำให้นายสุวิทย์ตัดสินใจเช่นนั้น ในขณะที่นายสุวิทย์ บอกว่าสาเหตุมาจากการที่ไทยไม่เห็นด้วยกับการที่กัมพูชาจะใช้คำว่า "urgent repair" (ซ่อมแซมอย่างเร่งด่วน) และ "restoration" (ฟื้นฟู, บูรณะ) แต่ต้องการให้ใช้คำว่า "protection" (ปกป้อง) และ "conservation" (อนุรักษ์) และแผนบริหารจัดการฉบับใหม่ของกัมพูชาสุ่มเสี่ยงให้ไทยเสียดินแดน แต่ข้อมูลที่ปรากฏกลับตรงกันข้ามกับสิ่งที่นายสุวิทย์แถลงโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ
๑. ร่างมติที่ ๓๕COM๗B.๖๒ ของกก.มรดกโลก ชี้ว่ากัมพูชาตกลงใช้คำว่า "protection" และ "conservation" โดยมีข้อความ: ๖ [Proposed by Cambodia. Decides to review the progress towards the protection and conservation of the property at its ๓๖th session:]
๒. คำแถลงของมาดามโบโควา ผอ.ยูเนสโกระบุว่า ไม่มีการพิจารณาเรื่องแผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหารเลย .
เราจึงควรตรวจสอบการตัดสินใจที่ไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนนี้ และไม่แน่ชัดว่าได้ผ่านที่ประชุมครม.จริงหรือไม่ อีกทั้งก็เป็นแค่รัฐบาลรักษาการณ์ สมควรตัดสินใจเรื่องสำคัญที่จะกระทบผลประโยชน์ของประเทศในระยะยาวหรือไม่
เป็นไปได้หรือไม่ว่าเหตุผลสำคัญที่นำไปสู่การประกาศถอนตัวจากอนุสัญญามรดกโลก มาจากข้อเท็จจริงที่ว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์และนายสุวิทย์ตระหนักว่าไทยไม่สามารถยับยั้งการบริหารจัดการปราสาทพระวิหารได้อีกต่อไป แต่ไม่รู้จะชี้แจงกับสังคมอย่างไร เพราะที่ผ่านมาได้ให้ข้อมูลและความเข้าใจที่มีปัญหากับสังคมมาโดยตลอด จึงใช้วิธีถอนตัว สร้างความสะใจ แถมยังได้คะแนนชาตินิยมเพิ่มขึ้นอีก บทความชิ้นนี้จึงต้องการชี้แจงให้เห็นว่าข้อมูลและความเข้าใจที่มีปัญหานั้นคืออะไร
1. แผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหารเป็นข้อตกลงทวิภาคีระหว่างคณะกรรมการมรดกโลกกับ รัฐบาลกัมพูชา ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจอธิปไตยเหนือมรดกโลกชิ้นนี้เท่านั้น ไทยไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงนี้ ฉะนั้น โดยหลักการ เขาไม่จำเป็นต้องรับฟังประเทศไทยเลยก็ได้ โดยเฉพาะหลังจากรัฐบาลสมัครถูกบีบให้ถอนแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาที่สนับสนุนการขึ้นทะเบียนพระวิหารมรดกโลก ก็ทำให้ไทยไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับมรดกโลกชิ้นนี้อีกต่อไป
๒. รัฐบาลอภิสิทธิ์และกลุ่มชาตินิยมกล่าวว่าการขึ้นทะเบียนพระวิหารเป็นมรดกโลกอาจทำให้ไทยเสียอธิปไตยเหนือพื้นที่ทับซ้อน ๔.๖ ตร.กม. แต่รัฐบาลก็ไม่เคยชี้แจงอย่างชัดเจนว่าแผนที่หรือแผนผังที่กัมพูชาแนบไปกับการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกมีส่วนไหนที่รุกล้ำเข้ามาใน ๔.๖ ตร.กม.
อนุสัญญามรดกโลกระบุไว้ชัดเจนว่าการขึ้นทะเบียนทรัพย์สินใดที่ตั้งอยู่ในอาณาเขตที่มีการอ้างสิทธิมากกว่าหนึ่งรัฐ ย่อมไม่ทำให้สิทธินั้นเสียไปแต่อย่างใด นอกจากนี้ มติคณะกรรมการมรดกโลกที่ WHC-๐๙/๓๓.COM/๗B.Add, p.๙๐ ยืนยันว่าพื้นที่บริหารจัดการของพระวิหารหมายรวมเฉพาะตัวทรัพย์สินที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกและพื้นที่กันชนเท่าที่ระบุไว้ในแผนผังที่ได้รับการปรับปรุงแล้วเท่านั้น
โดยกัมพูชาได้ระบุไว้ชัดเจนว่า ทรัพย์สินที่ขอขึ้นทะเบียนคือตัวปราสาท (หมายเลข ๑) และพื้นที่กันชนคือ (หมายเลข ๒ หรือพื้นที่สีเขียว) ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันออกและด้านใต้ของกัมพูชาเท่านั้น พื้นที่ทับซ้อนคือพื้นที่สีเหลืองไม่ได้ถูกผนวกไว้ในทรัพย์สินที่ขอขึ้นทะเบียนเลย (ดูแผนผังประกอบ)
แผนผังแนบการขึ้นทะเบียนพระวิหารเป็นมรดกโลกระบุว่ามีเฉพาะตัวปราสาท (เลข ๑) และพื้นที่ด้านใต้กับด้านตะวันออกของปราสาท (เลข ๒) ที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
อนึ่ง แผนผังฉบับที่กัมพูชายื่นขอขึ้นทะเบียนพระวิหารในปี ๒๕๕๐ แต่ถูกฝ่ายไทยคัดค้านจนต้องเลื่อนไปอีกหนึ่งปี ได้รวมเอาพื้นที่ ๔.๖ ตร.กม.ไว้เป็นเขตกันชนด้วย แต่กระทรวงการต่างประเทศของไทยในยุครัฐบาลสมัครสามารถเจรจาจนทำให้กัมพูชาตัด ๔.๖ ตร.กม.ออกจากแผนผังที่แนบเพื่อขึ้นทะเบียนในที่สุด
๓. คำอธิบายประการหนึ่งที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ใช้เพื่อคัดค้านแผนบริหารจัดการพระวิหารก็คือ การบริหารจัดการได้รุกล้ำเข้ามาในเขตแดนของไทย แต่รัฐบาลไทยก็ไม่เคยมีแม้แต่ภาพถ่ายแสดงให้ประชาชนไทยและเทศได้เห็นว่าการพัฒนาพระวิหารได้รุกล้ำเขตแดนของไทยแค่ไหน อย่างไร สื่อมวลชนไทยก็ไม่เคยทวงถามขอดูหลักฐานอะไรเลย เป็นไปได้หรือไม่ว่า ทีมงานนายสุวิทย์ก็ไม่มีหลักฐานหนักแน่นเพียงพอไปแสดงต่อคณะกรรมการมรดกโลกเช่นกัน เขาจึงไม่สนใจคำคัดค้านของไทย จดหมายแจ้งเรื่องการถอนตัวที่นายสุวิทย์มีถึงมาดามโบโควา ผอ.ยูเนสโก ก็ไม่มีรายละเอียดเรื่องนี้
๔. เป็นความเข้าใจผิดว่าถ้าแผนบริหารจัดการไม่ผ่าน กัมพูชาก็ไม่สามารถเดินหน้าพัฒนาพระวิหารได้ เมื่อพัฒนาไม่ได้ก็อาจจะถูกถอดออกจากมรดกโลกในที่สุด
ความเป็นจริงก็คือ ทันทีที่พระวิหารได้เป็นมรดกโลกในเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๑ กัมพูชาได้เดินหน้าพัฒนาพระวิหารและพื้นที่โดยรอบไปอย่างมากมาย โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากหลายประเทศและจากคณะกรรมการมรดกโลกทำงานร่วมอยู่ด้วย
ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ทำหน้าที่สำรวจ แนะนำ ติดตามความก้าวหน้าในการทำงาน และเขียนรายงานแผนบริหารจัดการ โดยรัฐบาลกัมพูชาสามารถลงมือปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญได้เลย ฉะนั้น ในแผนที่ที่เสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกก็จะต้องรายงานว่าผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ทำอะไรบ้าง กัมพูชาได้ลงมือทำอะไรไปแล้วบ้าง และจะทำอะไรต่อไป
รายงานที่กัมพูชาพิมพ์เผยแพร่ในเดือน พ.ค.๒๕๕๓ แสดงภาพให้เห็นว่าได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ตัวปราสาท, การก่อสร้างสะพานไม้ยาว ๑,๔๕๐ เมตร, หมู่บ้านนิเวศ (Eco-village), สถานพยาบาล, พิพิธภัณฑ์, โรงเรียน ฯลฯ แต่ขอย้ำว่าการก่อสร้างเหล่านี้อยู่ในพื้นที่ราบทางฝั่งกัมพูชา ส่วนสะพานไม้ก็เชื่อมระหว่างพื้นที่ราบกับด้านตะวันออกของตัวปราสาท (กรุณาดูภาพประกอบ)
๕. ในขณะที่ ในช่วงกว่าสองปีที่ผ่านมา รัฐบาลอภิสิทธิ์มักทำท่าแข็งขันคัดค้านแผนบริหารจัดการพระวิหารทุกครั้งที่มีการประชุมมรดกโลก แล้วก็ประกาศว่าไทยคัดค้านสำเร็จ แต่ผู้เขียนอยากบอกว่าเป็นการคัดค้านผิดที่ผิดเวลาทุกครั้ง และก็ค้านไม่สำเร็จด้วย
กล่าวคือ ในการประชุมกก.มรดกโลกที่บราซิลเดือนก.ค. ๒๕๕๓ นายสุวิทย์ให้สัมภาษณ์ว่าการขึ้นทะเบียนพระวิหารเป็นมรดกโลกยังไม่สมบูรณ์ เพราะกัมพูชายื่นแผนฯ ช้ากว่ากำหนด ฝ่ายไทยยังไม่ได้เห็นเอกสาร ฉะนั้น กก.มรดกโลกจึงให้เลื่อนการพิจารณาออกไปเป็นปี ๒๕๕๔ สื่อไทยต่างไชโยโห่ร้องกับชัยชนะครั้งนี้
แต่ฝ่ายกัมพูชาออกมาตอบโต้อย่างทันทีทันใดว่า ตนได้ยื่นแผนฯ ให้ศูนย์มรดกโลก (World Heritage Centre) ตั้งแต่วันที่ ๒๘ ม.ค.๒๕๕๓ (ก่อน deadline วันที่ ๑๐ ก.พ.๒๕๕๓) และย้ำว่าศูนย์มรดกโลกไม่มีหน้าที่ต้องส่งแผนฯให้ไทยพิจารณาก่อน เพราะไทยไม่มีสิทธิ์อะไรในปราสาทพระวิหาร แผนบริหารจัดการเป็นเรื่องระหว่างกัมพูชากับคณะ กก.มรดกโลกเท่านั้น
กัมพูชายังอ้างคำพูดของกก.มรดกโลกที่ไม่เพียงรับแผนฯ แต่ยังแสดงความชื่นชมวิสัยทัศน์ที่ปรากฏในแผนอีกด้วย แถมกัมพูชายังเยาะเย้ยว่าฝ่ายไทยทำเหมือนไม่รู้ขั้นตอนการดำเนินงานของกก.มรดกโลก กล่าวคือ หน่วยงานที่ทำหน้าที่พิจารณาแผนฯ คือ ศูนย์มรดกโลก ซึ่งมีฐานะเป็นกองเลขาธิการและประสานงานระหว่างประเทศสมาชิกกับคณะกก.มรดกโลก (World Heritage Committee) ศูนย์มรดกโลกยังทำหน้าที่ติดตาม-ให้คำแนะนำแก่ประเทศสมาชิกด้วย ข้อมูลของกัมพูชาไม่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนไทยเลย ทั้ง ๆ ที่มีข้อมูลที่ควรถูกนำมาใช้ตรวจสอบข้อมูลของนายอภิสิทธิ์และนายสุวิทย์
ในแง่นี้ หมายความว่าการประชุมคณะกก.ชุดใหญ่ที่ไทยไปคอยเฝ้าคัดค้านนั้น ทำหน้าที่เสมือนขั้นตอนสุดท้ายในการรับรองแผนบริหารจัดการอย่างเป็นทางการเท่านั้น โดยเขาจะต้องพิจารณา-ตัดสินใจกันเรียบร้อยกันมาก่อนหน้านั้นแล้วว่า จะรับหรือไม่รับอย่างไร เพราะในแต่ละวันคณะกก.ชุดใหญ่ มีเรื่องให้พิจารณาหลายวาระ จะให้นั่งวิเคราะห์แต่ละวาระ ที่ประกอบด้วยเอกสารเป็นร้อยหน้าในเวลาสั้น ๆ ย่อมเป็นไปไม่ได้ อีกทั้ง การพิจารณาแผนฯ ต้องส่งคนไปดูในพื้นที่ด้วย ดูแต่กระดาษที่เสนอมาย่อมไม่สามารถบอกได้ว่ามีการปั้นน้ำเป็นตัวหรือไม่
ฉะนั้น ในปีนี้ เมื่อรัฐบาลไทยบอกว่าส่งนายสุวิทย์ไปคัดค้านแผนบริหารจัดการอีก จึงเป็นปัญหาว่ายังจะค้านได้อยู่อีกหรือ
ปัญหาของมรดกโลกในไทย
ในขณะที่นักวิชาการบางส่วนบอกว่า ไม่เป็นไร ถอนตัวออกมาก็ดีแล้ว เราดูแลสมบัติของเราเองได้ แต่ผู้เขียนอยากเตือนให้ตระหนักถึงความเป็นจริงประการหนึ่ง คือ ความไร้ประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายในไทย กรณีอุทยานประวัติศาสตร์อยุธยาเป็นตัวอย่างที่ดี การที่เราตื่นตัวกับสภาพเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมรอบตัวอุทยาน เพราะเราถูกเตือนจากกก.มรดกโลก ว่าอยุธยาอาจถูกถอดจากมรดกโลกได้ ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องหาทางจัดระเบียบกับร้านค้าโดยรอบอุทยานฯ สถานะมรดกโลกจึงเป็นเสมือนเครื่องมือคอยกำกับดูแลในกรณีที่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นขาดประสิทธิภาพในการดูแลสิ่งที่มีคุณค่านั้น ๆ
แต่การดูแลรักษาอุทยานประวัติศาสตร์ก็ยังไม่น่ากังวลเท่ากับดูแลรักษามรดกทางธรรมชาติอีกสองแห่งคือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง และอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เพราะเป็นที่รู้กันดีถึงความสามารถของคนไทยในการทำลายพื้นที่ป่า ที่ผ่านมาเราต้องยอมรับว่าสถานะมรดกโลกทำให้พื้นที่ป่าทั้งสองได้รับการปกป้องอย่างเข้มแข็งมากขึ้น
นอกจากนี้ สถานะมรดกโลก ๗ แห่งในประเทศไทยเป็นสิ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศไทยจำนวนมาก ถ้าเราไม่ได้เป็นภาคีของอนุสัญญามรดกโลก เราก็ต้องทำใจที่จะต้องเลิกใช้คำว่ามรดกโลกกับสถานที่ทั้งหลายด้วย และหมายความต่อว่าความคิดที่จะขึ้นทะเบียนทรัพย์สินใหม่ ๆ ก็ต้องยกเลิกไปเลย เพราะมีแต่ประเทศภาคีเท่านั้นที่จะยื่นขอจดทรัพย์สินเป็นมรดกโลกได้ เมื่อไทยไม่ได้เป็นภาคี พันธะสัญญาที่มีต่อกันก็ต้องยุติลง สถานะมรดกโลกไม่ใช่สิ่งที่ได้แล้วได้เลย
ในช่วงสามปีที่เรามีปัญหากับกัมพูชาเรื่องพระวิหาร ภาพพจน์ของไทยในสายตานานาชาติตกต่ำลงไปอย่างมาก เราเหมือนประเทศที่ "มวยแพ้ แต่คนไม่แพ้" มาวันนี้ เราก็ประกาศถอนตัวจากอนุสัญญามรดกโลก ด้วยเหตุผลที่กำกวม และไม่สนใจว่าเรายังมีประโยชน์อื่นๆที่ต้องรักษาไว้อีก ไม่น่าเชื่อว่าการต่างประเทศของไทยจะตกต่ำได้ถึงเพียงนี้
อย่างไรก็ตาม การประกาศถอนตัวจากการเป็นภาคียังไม่มีผลบังคับใช้ในทันที แต่ต้องรอถึง ๑๒ เดือนหลังจากที่รบ.ไทยยื่นจดหมายอย่างเป็นทางการกับผู้อำนวยการยูเนสโกแล้วเท่านั้น ก็หวังว่ารัฐบาลใหม่ที่เข้ามาจะกล้าทบทวนเรื่องนี้อย่างจริงจัง
ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติกำลังสำรวจพระวิหารร่วมกับเจ้าหน้าที่กัมพูชา
ถนนที่เชื่อมหมู่บ้านกัมพูชาเข้ากับทางขึ้นฝั่งตะวันออกของพระวิหาร
พิพิธภัณฑ์นิเวศโลก ตั้งอยู่ทางใต้ของพระวิหาร
สะพานไม้ความยาว ๑,๔๕๐ เมตร อยู่ทางฝั่งตะวันออกของพระวิหาร
สถานีอนามัยในหมู่บ้านนิเวศ "สมเด็จฮุนเซน"
ที่มา : มติชนออนไลน์ วันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๔

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น