วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2554

ปราจีนบุรีเดินหน้าบูมเขาใหญ่หวังเม็ดเงินสะพัด

 

นายคันฉัตร ตันเสถียร ปลัดจังหวัดปราจีนบุรี เปิดเผยว่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๑ ปราจีนบุรี กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร่วมกับ จังหวัดปราจีนบุรี ได้จัดทำโครงการ "เพิ่มประสิทธิภาพเพื่อการท่องเที่ยวมรดกโลกทางธรรมชาติ" โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งเป็นมรดกทางธรรมชาติระดับโลกให้เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในหมู่นักท่องเที่ยว พร้อมผลักดันให้จังหวัดปราจีนบุรีเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งจะเป็นการกระจายรายได้และสร้างโอกาสทางอาชีพแก่ประชาชนในพื้นที่

โดยโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และกลุ่มผู้ให้บริการรถสาธารณะ ในการร่วมกันเปิดเส้นทางใหม่ในการท่องเที่ยวและพัฒนาระบบขนส่งที่เชื่อมต่อสู่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่จากจังหวัดปราจีนบุรี ให้มีความสะดวกมากขึ้นด้วยรถบริการสาธารณะ โดยจะแวะตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในเวลาที่กำหนด ภายใต้พื้นฐานการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการบริการที่ดี โดยมีแนวคิดสำคัญในการส่งเสริมให้อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

สำหรับการเปิดเส้นทางใหม่ทางการท่องเที่ยวสู่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ครั้งนี้ จะเป็นการอำนวยความสะดวกในการเดินทางมาชมความสวยงามแห่งผืนป่าอันเป็นมรดกโลก และช่วยเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศแล้ว ยังจะเป็นการสร้างจิตสำนึกที่ดีในการหวงแหนและรักษาธรรมชาติอันงดงาม ให้คงด้วยความอุดมสมบูรณ์อย่างมีคุณค่า ที่สำคัญต้องการทำให้จังหวัดปราจีนบุรีอยู่ในเส้นทางการท่องเที่ยวที่สำคัญ เพราะที่ผ่านมาการเดินทางสู่เขาใหญ่ นักท่องเที่ยวจะให้ความสำคัญไปที่จังหวัดนครราชสีมาเพียงเส้นทางเดียวเท่านั้

"อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นหนึ่งในมรดกโลกที่ยังคงความสมบูรณ์ของผืนป่าและสัตว์ป่าหลายสายพันธุ์ และยังเป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวเดินทางมาสัมผัสความงดงามอยู่เสมอ ด้วยปัจจัยดังกล่าว เราจึงมีความมุ่งหวังที่จะสนับสนุนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยใช้เส้นทางการเดินทางจากจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีสถานที่ท่องเที่ยวอันสวยงามมากมาย เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสพบกับสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความหลากหลาย ก่อนที่จะไปสิ้นสุดที่เขาใหญ่"

ที่มา : เนชั่นทันข่าว วันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๔

วันจันทร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2554

กรมศิลป์พร้อมรับมือน้ำท่วมโบราณสถานกรุงเก่า

 




กรมศิลป์เตรียมรับมือน้ำท่วมโบราณสถานเมืองกรุงเก่า หลังวัด 51 แห่งถูกน้ำท่วม ด้าน พศ.เตรียมลงพื้นที่ช่วยเหลือวัด-พระสงฆ์ที่ได้รับความเดือดร้อน...

เมื่อวันที่ 3 ก.ย. นายเอนก สีหามาตย์ รองอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมว่า กรมศิลปากร ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะความเร็วของน้ำ ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากมีโบราณสถานสำคัญเป็นจำนวนมาก ซึ่งพื้นที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจะเป็นรอบนอกเกาะเมือง เพราะไม่มีระบบการป้องกันน้ำท่วม แต่ในส่วนของเกาะเมืองเทศบาล ได้จัดทำระบบป้องกันน้ำท่วมไว้เป็นอย่างดีแล้ว ดังนั้น วัดหรือแหล่งโบราณสถานในพื้นที่รอบนอกเกาะเมือง จะใช้วิธีการใช้กำแพงโบราณหรือกระสอบทรายในการป้องกันน้ำท่วมไปก่อน

นายสด แดงเอียด อธิบดีกรมการศาสนา (ศน.) กล่าวว่า ศน.ได้ดำเนินการสำรวจศาสนสถานทุกศาสนา ในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมพบว่า จังหวัดสุโขทัยมีวัดประสบอุทกภัยจำนวน 20 วัด พิจิตร 56 วัด พิษณุโลก 89 วัด และโบสถ์คริสต์ 1 แห่ง ส่วนสถานการณ์ขณะนี้ยังมี 8 จังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วม ได้แก่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ชัยนาท อุบลราชธานี ในการนี้ ศน.ยังได้เตรียมสมณบริขาร เครื่องอุปโภคบริโภค เพื่อนำไปถวายพระสงฆ์ สามเณร ที่ได้รับความเดือดร้อนด้วย ในส่วนภูมิภาคได้มอบหมายให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดดูแลพระสงฆ์ที่ประสบภัย น้ำท่วมด้วย นอกจากนี้ยังได้ตั้งศูนย์ช่วยเหลือและรับบริจาคขึ้น ซึ่งประชาชนสามารถบริจาคมาได้ที่ ศน.หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ 0-2422-8793-4

ด้านนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวว่าสถานการณ์น้ำท่วมวัดขณะนี้ หลายจังหวัดดีขึ้น ที่ยังน่าห่วงคือ ในพื้นที่ อ.บางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่น้ำท่วมหนัก ทั้งนี้ พศ.ได้สำรวจวัดในพื้นที่อยุธยาพบว่า มี 51 วัดประสบปัญหาน้ำท่วม ดังนั้น ในวันที่ 8 ก.ย.นี้ นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแล พศ. จะลงพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อตรวจเยี่ยมสถานการณ์อุทกภัย และให้การช่วยเหลือวัด และพระสงฆ์ที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์อุทกภัย โดยจะมอบสิ่งของต่างๆ ให้แด่พระสงฆ์ ณ วัดพนัญเชิง และจะลงตรวจวัดที่ได้ประสบปัญหาน้ำท่วมหนัก 5 จุดด้วย


ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ ๕ กันยายน ๒๕๕๔

วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554

ตำนานแห่งนักอนุรักษ์ก็ได้เริ่มต้นขึ้นทันทีที่สิ้นเสียงปืน ... "ปัง!!!!"

เช้าวันที่ 1 กันยายน 2533 สืบ นาคะเสถียร ได้ชำระสะสางภาระหน้าที่รับผิดชอบ และทรัพย์สินส่วนตัวที่คั่งค้าง มอบหมายเครื่องใช้ และอุปกรณ์ต่างๆ ให้กับคนสนิทใกล้ชิดเป็นผู้ดูแล และเป็นธุระส่งคืนเจ้าของ

พร้อมๆ กับที่ตำนานแห่งนักอนุรักษ์ก็ได้เริ่มต้นขึ้นทันทีที่สิ้นเสียงปืน ... "ปัง!!!!"


เป็นเวลากว่า 21 ปีแล้ว ที่ประเทศไทยได้สูญเสีย สืบ นาคะเสถียร ทรัพยากรบุคคลอันมีค่าไปอย่างไม่มีวันกลับ ทำให้วันนี้ชื่อของเขากลายเป็นตำนานที่เล่าขานต่อกันมาจากรุ่นสูุ่รุ่น...เรื่องราวชีวิตของ สืบ นาคะเสถียร เริ่มต้นขึ้นอย่างไร วันนี้ Sanook! Travel จะชวนคุณย้อนเวลากลับไป เพื่อทำความรู้จักกับเขา...

2492 สืบ นาคะเสถียร เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม ที่ตำบลท่างา อำเภอเมืองจังหวัดปราจีนบุรี เป็นลูกของนายสลับ นาคะเสถียร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีน และนางบุญเยี่ยม นาคะเสถียร มีพี่น้องทั้งหมดสามคน โดยสืบ เป็นบุตรชายคนโต น้องชายและน้องสาวอีก 2 คน คือ กอบกิจ นาคะเสถียร และกัลยา รักษาสิริกุล

2502 สืบมีนิสัยทำอะไรมักจะทำให้ได้ดีตั้งแต่เด็ก และเมื่อจบประถม 4 สืบได้ย้ายไปเรียนโรงเรียนเซ็นต์หลุยส์ จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นนักเป่าทรัมเป็ตมือหนึ่ง และนักวาดภาพฝีมือดีของโรงเรียน

2510-2514 สืบอยากเรียนสถาปัตยกรรมเพราะชอบด้านศิลปะ แต่มาสอบติดคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์รุ่นที่ 35

2516-2517 เมื่อสำเร็จการศึกษาได้เข้าทำงานที่ส่วนสาธารณะการเคหะแห่งชาติ และไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขาวนวัฒน์วิทยา คณะวนศาสตร์

2518 สอบเข้ากรมป่าไม้ได้ แต่เลือกที่จะมาทำงานที่กองอนุรักษ์สัตว์ป่าโดยไปประจำที่เขตรักษาพันธุ์ สัตว์ป่า เขาเขียว-เขาชมพู่จังหวัดชลบุรี

2522 ได้รับทุนจาก British Council ไปเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษในสาขาอนุรักษ์วิทย

2524 ดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ และเริ่มงานวิจัยชิ้นแรก คือการศึกษาการทำรังวางไข่ของนกบางชนิด ที่อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี

2528 เดินทางไปทำวิจัยเรื่องกวางผา กับดร.แซนโดร โรวาลี ที่ดอยม่อนจองในบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ป่า จนเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเสียชีวิต สร้างความสะเทือนใจให้แก่สืบมาก

2529 หัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าในเขื่อนเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีสัตว์นับพันตัวได้รับความช่วยเหลือ แต่สืบรู้ดีว่ามีสัตว์อีกนับจำนวนมหาศาลที่ตายจากการสร้างเขื่อน และในระหว่างนั้น สืบได้ค้นพบรังนกกระสาคอขาวปากแดงครั้งแรกในประเทศไทย

2530 สืบได้เปลี่ยนบทบาทจากนักวิชาการไปสู่นักอนุรักษ์ โดยเข้าร่วมต่อสู้คัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน จังหวัดกาญจนบุรี สืบชี้ให้เห็นถึงบทเรียนจากการที่มีสัตว์จำนวนมาก ล้มตายหลังจากการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน สืบเริ่มต้นอภิปรายทุกครั้งว่า "ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่า"

2531 สืบและเพื่อนอนุรักษ์ออกโรงคัดค้านการที่บริษัทไม้อัดไทยจะขอสัมปทานทำไม้ ที่ป่าห้วยขาแข้ง สืบได้อภิปรายว่า "คนที่อยากอนุญาตให้ทำไม้ก็เป็นกรมป่าไม้ คนที่จะรักษาก็เป็นกรมป่าไม้เหมือนกัน"

2532 สืบได้รับทุน เรียนต่อปริญญาเอกที่ประเทศอังกฤษ แต่ตัดสินใจเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สืบพบปัญหาต่างๆ มากมายในห้วยขาแข้ง อาทิ ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์ของบุคคลที่มีอิทธิพล เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าถูกยิงเสียชีวิต ปัญหาความยากจนของชาวบ้านรอบป่า และที่สำคัญคือปัญหาเหล่านี้ไม่เคยได้รับความสนใจจากผู้ใหญ่เลย สืบจึงทุ่มเทเขียนรายงานนำเสนอยูเนสโก เพื่อพิจารณาให้ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลก อันเป็นสิ่งค้ำประกันให้พื้นที่แห่งนี้ได้รับการคุ้มครองเต็มที่

1 กันยายน 2533 สืบสะสางงาน และเขียนพินัยกรรมไว้เรียบร้อย ก่อนกระทำอัตวิบาตรกรรม เพื่อเรียกร้องให้สังคมและราชการหันมาสนใจปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ อย่างจริงจัง

เพียงไม่นาน หลังจากที่สืบเสียชีวิต เพื่อนพ้องน้องพี่ที่มีอุดมการณ์เดียวกัน จึงได้ก่อตั้ง มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ขึ้นในวันที่ 18 กันยายน 2533 โดยร่วมกันสานความฝัน สืบต่อความคิด ใส่ความมุ่งมั่นในการทำงาน อนุรักษ์ป่าไม้ สัตว์ป่า และในวันที่ 26 เมษายน 2536 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินมาที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เพื่อทรงเปิดอนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียร

แม้ว่าวันนี้จะไม่มีร่างกายและลมหายใจของสืบ นาคะเสถียรแล้ว แต่เชื่อได้ว่า หัวใจแห่งนักอนุรักษ์ไทย ผู้ที่รักป่าไม้ ธรรมชาติ ด้วยกาย วาจา และใจ จะยังคงอยู่ปกป้องคุ้มครองป่าต่อไป...

แล้วคุณล่ะ วันนี้คุณทำอะไร เพื่อปกป้องผืนป่าของเราแล้วหรือยัง?

ที่มา : http://travel.sanook.com

"สุกุมล"สั่งกรมศิลป์เฝ้าระวังน้ำท่วมโบราณสถาน 24 ชม.

 




รมว.วัฒนธรรม ลงพื้นที่ครั้งแรกตรวจน้ำท่วมโบราณสถานอยุธยา สั่งกรมศิลป์เฝ้าระวัง 24 ชม. เตรียมของบฯ รัฐบาลสร้างแนวกั้นน้ำประสิทธิภาพสูง พร้อมดัน อยุธยาเป็นโมเดลต้นแบบ...

เมื่อวันที่ 26 ส.ค. นางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วย นายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางโสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากร เดินทางตรวจเยี่ยมโบราณสถานใน จ.พระนครศรีอยุธยา ที่มีความเสี่ยงต่อสถานการณ์น้ำท่วม ประกอบด้วย วัดไชยวัฒนาราม หมู่บ้านโปรตุเกส วัดธรรมาราม โดย นางสุกุมล กล่าวว่า จากการตรวจเยี่ยมแหล่งโบราณสถาน พบว่า สถานการณ์ยังไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ยังมีปริมาณไม่สูงมาก มีระบบป้องกันที่ยอดเยี่ยมสามารถป้องกันน้ำท่วมได้เป็นอย่างดี ทำให้ 2 ปีที่ผ่านมา ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำท่วมมากเกินไป ดังนั้นการสร้างกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กป้องกันน้ำท่วมบริเวณวัดไชยวัฒนาราม มีประสิทธิภาพอย่างมาก

ส่วนกรณีปัญหาน้ำใต้ดิน ซึมเข้าสู่โบราณสถาน อาทิ ที่ หมู่บ้านโปรตุเกส รวมถึงวัดไชยวัฒนารามนั้น ทางจังหวัดก็ได้เตรียมเครื่องสูบน้ำไว้แล้ว ซึ่งหากมีน้ำซึมเข้ามาก็จะมีการระบายน้ำออกทันที ส่วนปัญหาน้ำท่วมแหล่งโบราณสถานทั่วประเทศ ขณะนี้ ยังไม่ได้รับรายงานความเสียหาย อย่างไรก็ตาม ตนได้สั่งการให้กรมศิลปากร ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง หากจังหวัดใดมีปัญหาน้ำท่วมมาก จะเข้าไปตรวจสอบต่อไป ในส่วน จ.สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชรนั้น จะหารือทางกรมศิลปากร ว่า จะมีวิธีใดบ้างที่มีใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันน้ำท่วม ซึ่งอาจจะนำตัวอย่างจากระบบป้องกันใน จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นต้นแบบ และจะเร่งของบประมาณจากทางรัฐบาลต่อไป

ด้านนายสุพจน์ พรหมมาโนช ผอ.สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า โบราณสถานในพื้นที่เกาะเมืองในจังหวัดพระนครศรีอยุธยามี 95 แห่ง มีศักยภาพในการป้องกันน้ำท่วมได้สูง ส่วนบริเวณนอกเกาะเมืองนั้น อาจจะต้องปล่อยให้มีน้ำท่วมขัง เนื่องจากยังไม่มีระบบป้องกันที่ดี แต่จะต้องมีการเร่งใช้เครื่องสูบน้ำระบายน้ำออก อย่างไรก็ตาม ปัญหาในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ส่วนใหญ่จะอยู่ทางทิศเหนือเขตพระราชวังโบราณ เมื่อฝนตกจะมีน้ำท่วมขังมาก ในส่วนของวัดไชยวัฒนาราม ที่ป้อมเพชร และหมู่บ้านโปรตุเกสนั้นได้ติดตั้งแผงคอนกรีตกั้นตลอดแนว สามารถป้องกันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าท่วมได้ และใช้เหล็กแป๊ปทำเป็นสันเพื่อต้านกระแสน้ำเข้ามาปะทะ

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์น้ำท่วมโดยรวมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาขณะนี้ มีวัดที่ได้รับผลกระทบ 38 แห่ง มัสยิด 29 แห่ง และอยู่ในภาวะวิกฤติ 3 แห่ง นายสุพจน์ กล่าวต่อว่า สำหรับการป้องกันในเบื้องต้นขณะนี้สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยาได้มีการเสริมความมั่นคงของโบราณสถานให้มีความแข็งแรง โดยเฉพาะฐานรากเพื่อป้องกั้นการกัดเซาะของแหล่งน้ำ และใช้กระสอบทรายอุดไว้ที่ซุ้มประตูของกำแพงวัด ติดตั้งระบบกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็ก และเตรียมเครื่องสูบน้ำสำหรับสูบน้ำออกจากโบราณสถานที่ได้รับผลกระทบ


ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๔

แฉบ.ทัวร์หัวใสใช้ ตั๋วผี พาเที่ยวชมโบราณสถาน

 

Pic_198554




กรมศิลป์แฉ บ.ทัวร์หัวใสใช้ "ตั๋วผี" พานักท่องเที่ยวเข้าชมโบราณสถาน เตรียมหามาตรการล้อมคอก รับเจ้าหน้าที่มีความบกพร่องไม่ตรวจสอบรอบคอบ...

เมื่อวันที่ 1 ก.ย. นายเอนก สีหามาตย์ รองอธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้เห็นข้อบกพร่องในเรื่องการจำหน่ายบัตรค่าเข้าชมอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เนื่องจากเคยได้รับการร้องเรียนจากนักท่องเที่ยวและผู้หวังดีแจ้งมายังสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา และกรมศิลปากร โดยพบว่า การจำหน่ายบัตรเข้าชมแต่ละแห่งของโบราณสถานที่อยู่ในความดูแลอุทยานฯ ไม่โปร่งใส ทำให้รายได้จำนวนหนึ่งรั่วไหลไปสู่คนบางกลุ่ม จึงขอให้กรมศิลปากรตรวจสอบพฤติกรรมดังกล่าว ดังนั้นจึงต้องหามาตรการจัดระบบบริหารการจัดการใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

นายเอนก กล่าวอีกว่า สำหรับพฤติกรรมที่ไม่โปร่งใสในการจำหน่ายบัตรมีหลายรูปแบบ ทั้งการใช้ตั๋วจริงที่ขายให้กับนักท่องเที่ยว แต่มีการนำตั๋วที่เข้าชมมาหมุนเวียนใช้อีกหลายครั้ง รวมทั้งยังมีการนำตั๋วใบสแกนสีให้เหมือนของจริงมาใช้ด้วย เพราะนักท่องเที่ยวบางทีไม่ได้ใส่ใจตั๋วที่ซื้อมาเท่าใดนัก เมื่อรับมาเสร็จเดินเข้าชมโบราณ ซึ่งเจ้าหน้าที่ประตูทางเข้าตรวจดูแล้วเป็นของปลอมหรือตั๋วเวียน และที่รั่วไหลอีกช่องทางหนึ่ง คือ บริษัทที่พานักท่องเที่ยวเป็นกรุ๊ปทัวร์จะบอกตัวเลขไม่ตรงกับความเป็นจริง เช่น กรุ๊ปทัวร์ 20 คน แต่แจ้งตัวเลขซื้อบัตร 15 คน แต่ก็ต้องยอมรับว่าเจ้าหน้าที่เองก็ไม่ได้ตรวจทานตัวเลขนักท่องเที่ยว ให้ครบถ้วนทั้งหมด จึงเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น และก็ได้ดำเนินการลงโทษพนักงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการไปเรียบร้อยแล้ว

รองอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวอีกว่า จากนี้ไปกรมศิลปากร ต้องไม่นิ่งนอนใจ ได้เร่งรัดหาวิธีการบริหารจัดการให้มีประสิทธิผลมากขึ้น เช่น มีเจ้าหน้าที่ตรวจตั๋วเวลาเข้าและออก หรือทำบล็อกช่องทางเข้า มีการสแกนจำนวนยอดผู้เข้าชมผ่านช่องทางเข้าออก แต่การใช้เครื่องอุปกรณ์ตรงนี้ต้องลงทุนสูง และอีกทางหนึ่งเป็นการเพิ่มเจ้าหน้าที่ให้มากขึ้น และต้องมีความซื่อสัตย์เพื่อดูแลการรักษาผลประโยชน์ทางราชการ เพราะว่ารายได้ที่จากการขายบัตรเข้าชมนำมีจำนวนมาก โดยเฉพาะวัดพระศรีสรรเพชญ์เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีรายได้สูงเฉลี่ยวันละ 60,000-70,000 บาท และต่ำสุดประมาณ 30,000 บาท โดยรายได้ดังกล่าวจะต้องนำเข้ากองทุนโบราณคดี ไม่ได้ใช้ดูแลอุทยานฯ อยุธยาแห่งเดียว แต่ใช้เลี้ยงดูโบราณสถานทั่วประเทศ.


ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๔