ที่มา - มติชน รวบรวมทัศนะและความเห็นกรณีประเทศไทยยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลกและกรรมการมรดกโลก ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ที่ประเทศฝรั่งเศส หลังจากศูนย์มรดกโลกและยูเนสโกไม่ได้ฟังข้อทักท้วงของไทยกรณีนำแผนการบริหารจัดการเขาพระวิหารเข้าสู่ที่ประชุม เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นายกรัฐมนตรี
นายกรัฐมนตรี
"..การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกเมื่อคืนที่ผ่านมา (๒๕ มิถุนายน) รัฐมนตรีสุวิทย์ (คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) เดินออกจากที่ประชุมและแสดงเจตนาการถอนตัวออกจากการเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลก การดำเนินการทั้งหมดอยู่ในกรอบมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และผ่านการปรึกษาหารือ เมื่อคืนที่ผ่านมาผมได้คุยกับท่านสุวิทย์ทางโทรศัพท์หลายครั้งและประสานกับรัฐมนตรีกษิต ภิรมย์ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ) ด้วย
ประเทศไทยแสดงจุดยืนชัดเจนว่าไม่ต้องการให้ที่ประชุมพิจารณาแผนบริหารจัดการที่กัมพูชาจะเสนอกับที่ประชุม และในช่วงที่มีการประสานกับ ผอ.ยูเนสโก และผู้แทนพิเศษฯนั้น มีการยืนยันกับไทยมาตลอดว่าจะไม่มีการพิจารณาแผนดังกล่าว กระทั่งในช่วงการประชุมหลายวันที่ผ่านมา ร่างข้อมติชัดเจนว่าที่ประชุมตัดสินใจเลื่อนการพิจารณาแผนดังกล่าว แต่ปรากฏว่าก่อนที่จะนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมมีการนำเสนอร่างข้อมติเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่ง ซึ่งกัมพูชาเสนอขึ้นแม้จะไม่ได้พูดแผนบริหารจัดการพื้นที่ชัดเจน แต่กำกวม และเราได้ปรึกษาเเล้วและเห็นว่ายอมรับไม่ได้ ที่ประชุมต้องการนำร่างมติสองฝ่ายไปพิจารณาในที่ประชุม ไทยเห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องเพราะมีการพูดกันมาตลอดว่าต้องไม่มีการตัดสินใจเรื่องนี้ ต้องมีความชัดเจนว่าต้องเลื่อนออกไปและระบุไว้ในข้อบังคับการประชุม"
ขอขอบคุณผู้แทนหลายประเทศและ ผอ.ยูเนสโก ที่พยายามหาทางประนีประนอมให้ร่างข้อมติเป็นที่ยอมรับได้ก่อนที่จะนำเสนอต่อที่ประชุม เช่น ออสเตรเลีย สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส บราซิล และอียิปต์ ที่พยายามประนีประนอม และผู้แทนจากสวิสนั้นเมื่อวาระนี้เข้าสู่ที่ประชุมได้บอกไปว่าอยากให้วาระนี้มีการประนีประนอมและแจ้งไปว่าผมกำลังรอคุยโทรศัพท์กับ ผอ.ยูเนสโก แต่ปรากฏว่าที่ประชุมตัดสินใจเดินหน้าต่อไป ฉะนั้นท่านสุวิทย์จึงตัดสินใจแถลงเจตนาเดินออกจากที่ประชุมและถอนตัวออกการเป็นภาคี
"การดำเนินการทั้งหมดเป็นไปตามมติ ครม. อย่างไรก็ตาม เมื่อท่านสุวิทย์เดินออกจากที่ประชุม ที่ประชุมมีมติตัดข้อความที่กัมพูชาเสนอในย่อหน้าที่เป็นปัญหา ฉะนั้นในชั้นนี้ยังไม่มีการพิจารณาแผนบริหารพื้นที่ของกัมพูชาแต่ประการใด การดำเนินการต่อไปจะเป็นหน้าที่รัฐบาลใหม่ที่จะดำเนินการถอนตัวจากกรรมการมรดกโลก แต่ระหว่างนี้ยูเนสโกสามารถปรึกษาหารือกับไทยได้เกี่ยวกับการดำเนินการต่อไป โดยไทยจะยืนยันว่าหากจะฟื้นฟูบูรณะใดๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้องกับดินแดนไทย ต้องได้รับความยินยอมจากไทยและไทยยืนยันเสมอว่ากัมพูชาต้องถอนทหารออกจากปราสาททั้งหมด ไม่เช่นนั้นจะถือว่าขัดต่อสนธิสัญญาและเจตนารมณ์ของกรรมการมรดกโลกด้วย"
การดำเนินการมาทั้งหมดนั้นยืนยันว่าไม่สูญเปล่าแน่นอน มิตรประเทศ คือ 5 ประเทศข้างต้นก็ช่วยไทยจริงจังและน่าจะเข้าใจจุดยืนของไทยมากขึ้น ผมเชื่อว่าการทำความเข้าใจมาตลอดมันเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ในที่สุดมติที่ประชุมก็ไม่ใส่ร่างข้อมติปัญหาที่กัมพูชาเสนอ"
นายสุวิทย์ คุณกิตติ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
"การที่ไทยลาออกจากคณะกรรมการมรดกโลกแล้ว ผลใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นจากการกระทำของสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลกก็จะไม่มีผลผูกพันต่อประเทศไทย หมายความว่าทางคณะกรรมการมรดกโลกจะให้กัมพูชาเข้าดำเนินกิจกรรมใดๆ ที่เป็นการรุกล้ำเข้ามาในดินแดนของไทยไม่ได้เป็นอันขาด หากว่ามีการประกาศขึ้นทะเบียนพระวิหารเป็นมรดกโลก และยอมรับแผนการจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารของกัมพูชา บางส่วนที่รุกล้ำเข้ามาในฝ่ายไทยนั้น ต้องมีการขออนุญาตรัฐบาลไทยก่อน จะกระทำการใดๆ ไม่ได้ เนื่องจากไทยไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจของคณะกรรมการมรดกโลก และไม่มีผลผูกพันใดๆ
การถอนตัวออกจากภาคีสมาชิกอนุสัญญาการคุ้มครองมรดกโลกนั้น ไม่มีข้อเสีย มีแต่ข้อดี เพราะทำให้ไทยไม่ต้องผูกพันกับข้อมติของคณะกรรมการมรดกโลก ถ้าเรายอมรับตามแผนบริหารจัดการดังกล่าว ก็เท่ากับว่ายินยอมเห็นชอบ ทำให้กัมพูชาหยิบยกเป็นข้ออ้างเป็นหลักฐานไปสู้คดีในศาลโลกได้ ไม่ถือว่าการเดินทางไปครั้งนี้ปฏิบัติหน้าที่ล้มเหลว เราทำหน้าที่ปกป้องอธิปไตยไทยอย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตาม การถอนตัวจากสมาชิกภาคีอนุสัญญาฯ ไม่มีผลต่อมรดกโลกของไทยที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง หรือ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แต่จะมีผลกับสิ่งที่ขอขึ้นทะเบียนใหม่เท่านั้น ทั้งนี้ แหล่งมรดกโลกจะถูกถอดถอนหากไม่ดูแลรักษาตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการมรดกโลก
พวงทอง ภวัครพันธุ์
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
"ขณะนี้ยังไม่ได้เห็นคำแถลงและเหตุผลที่นายสุวิทย์ คุณกิตติ กล่าวอ้างชัดๆ แต่ได้ยินตามสื่อทีวีบางช่องที่รายงานว่า เป็นเพราะฝ่ายไทยไม่สบายใจกับคำว่า Urgent repairs. (เร่งซ่อมแซมอย่างเร่งด่วน) และ Restoration. (บูรณะ) โดยต้องการให้เปลี่ยนมาเป็นคำว่า Protect (ป้องกัน) หรือ Conservation (อนุรักษ์) แทน เนื่องจากการซ่อมแซมอาจเกินเข้ามาในพื้นที่พิพาท ๔.๖ ตารางกิโลเมตร ซึ่งดิฉันเห็นว่าถ้ามีการอ้างเหตุผลแบบนี้ จะเป็นการเข้าใจผิด เพราะการซ่อมแซมสามารถขึ้นทางฝั่งตะวันออกของปราสาทได้ และการซ่อมตัวปราสาทไม่ได้เกี่ยวกับพื้นที่ ๔.๖ ตารางกิโลเมตร และขอบปราสาทก็มีรั้วอยู่แล้ว ดังนั้น จึงไม่เข้าใจว่าทำไมถึงคัดค้าน ๒ คำนี้
และคิดว่าการยื่นจดหมายลาออก น่าจะเป็นการที่คุณสุวิทย์ปกป้องตัวเองมากกว่า เพราะไม่สามารถยับยั้งแผนบริหารจัดการที่กัมพูชาเสนอได้ จึงกลัวถูกโจมตีเลยยื่นลาออกเพื่อตอบโต้ ซึ่งทำให้ฝ่ายชาตินิยมสะใจไปด้วย
การยื่นลาออกจากการเป็นภาคี ไม่ได้เป็นผลดี เพราะกระทบกับมรดกโลกของไทยที่ขึ้นทะเบียนไว้อีกหลายแห่ง เมื่อเราไม่ได้เป็นภาคีแล้ว แม้อนุสัญญาการเป็นภาคีกรรมการมรดกโลกจะไม่ได้ระบุว่า สถานที่อื่นๆ จะหมดไปด้วย แต่ระยะยาวจะมีผลเพราะสถานที่ที่เป็นมรดกโลกต้องรายงานคณะกรรมการตลอด ถ้าเราออกมา ก็ไม่ต้องรายงานและคณะกรรมการก็ไม่ต้องเข้ามาดู อย่างไรก็ดี เท่าที่ตรวจสอบอนุสัญญา การลาออกไม่ได้มีผลทันที แต่จะมีผลในอีก ๑๒ เดือน ซึ่งถ้ารัฐบาลใหม่เข้ามาก็อาจเปลี่ยนใจขอถอนจดหมายลาออกได้ ตรงนี้ก็น่าจะเป็นแนวทางที่รัฐบาลใหม่ควรทำ"
ที่ผ่านมารัฐบาลไทยทำให้คนไทยเข้าใจผิดมาตลอดในหลายประเด็น อาทิ ตอนที่คณะกรรมการเชิญไทยเป็นกรรมการบริหารจัดการแผนร่วม แต่ไทยก็ถอนตัวออกมา ทั้งที่ตามอนุสัญญาการเป็นภาคีกรรมการมรดกโลกคือ ข้อตกลงที่เจ้าของทรัพย์สินมรดกโลกจะให้กรรมการมรดโลก มาช่วยให้คำแนะนำ ดูแลให้สถานที่นั้นๆ เข้าสู่มาตรฐาน แต่คณะกรรมการยังเคารพอธิปไตยของประเทศนั้นๆ
ฉะนั้นเมื่อไทยถอนตัวออกมาจึงไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในนี้ นอกจากนี้ ถ้าดูแผนที่ที่กัมพูชาเสนอเป็นแผนบริหารจัดการ ก็ไม่มีในส่วนที่ยื่นเข้าในพื้นที่ ๔.๖ ตารากิโลเมตร ฉะนั้น ถ้ายังพิสูจน์ไม่ได้ว่ามีการล้ำเข้ามาในพื้นที่ดังกล่าว คณะกรรมการก็ย่อมไม่ฟังคำทักท้วงของไทย
นอกจากนี้ ไทยไม่เคยแสดงภาพหรือหลักฐานชัดๆ ว่ามีการล้ำเข้ามาในพื้นที่ดังกล่าว มีแต่คนของทางรัฐบาลพูดกันไป และที่สำคัญ ไทยยังเข้าใจเรื่องแผนบริหารจัดการผิด สิ่งที่ไทยค้านมา ๒ ปีตามที่มีการเสนอข่าว อันที่จริงคือ คณะกรรมการมรดกโลกยังไม่ได้พิจารณาลงในรายละเอียดของแผน แต่เป็นการพิจารณาเพื่อรับทราบเฉยๆ ว่ามีแผน เพราะกรรมการมีเรื่องพิจารณาเยอะ จึงไม่ได้มาพิจารณาลงในรายละเอียด เพราะต้องลงพื้นที่ดูว่าได้ปฏิบัติไปตามแผนจริงหรือไม่ อย่างไรก็ดี เมื่อมีกรณีนี้เกิดขึ้นคิดว่าปัญหาปราสาทพระวิหาร คงยืดเยื้อ
นายอดุล วิเชียรเจริญ
อดีตคณะกรรมการมรดกโลก ๒๑ ประเทศ
อดีตคณะกรรมการมรดกโลก ๒๑ ประเทศ
"..เท่าที่ทราบยังไม่มีประเทศใดถอนตัวออกจากภาคีสมาชิก ไทยเป็นประเทศแรกที่ลาออกจาก ซึ่งการถอนตัวออกจากภาคีสมาชิกอนุสัญญามรดกโลกนั้นจะไม่กระทบต่อแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติที่ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลก และจะไม่ถูกถอดถอนและจะไม่เสียฐานะยังคงเป็นอยู่ต่อไป ส่วนที่ว่าหากไทยจะขอกลับไปเป็นภาคีสมาชิกอีกครั้งทำได้หรือไม่ ผมมองว่าในเมื่อไทยตัดสินใจลาออกมาแล้วก็ไม่มีเหตุผลอะไรต้องกลับไปอีก ที่ผ่านมาที่ไทยยอมเป็นภาคีมรดกโลก
เนื่องจากตอนนั้นการพิจารณามรดกโลกเป็นไปอย่างเคร่งครัด แต่มาภายหลังไม่มีหลักเกณฑ์ชัดเจน การที่ไทยถอนตัวไม่เป็นภาคีมรดกโลกแล้วจะสามารถเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติให้เป็นมรดกโลกได้หรือไม่ ตามหลักสากล หรือในข้อกำหนดของยูเนสโกไม่ได้เขียนระบุไว้ว่า หากถอนตัวแล้วจะไม่สามารถเสนอขอเป็นมรดกโลก แต่โดยหลักการแล้ว ในเมื่อเราปฏิเสธกลไกดังกล่าวไปแล้ว เราก็ไม่ควรเสนอเป็นมรดกโลก
ผมมองว่าไม่มีความจำเป็นและไม่เห็นต้องอาศัยชื่อความเป็นมรดกโลก เพราะไม่ได้ทำให้พื้นที่ของประเทศไทยดีขึ้น เป็นเพียงสัญลักษณ์ทางชื่อเท่านั้น
ที่มา : มติชนออนไลน์ วันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๔
ผมมองว่าไม่มีความจำเป็นและไม่เห็นต้องอาศัยชื่อความเป็นมรดกโลก เพราะไม่ได้ทำให้พื้นที่ของประเทศไทยดีขึ้น เป็นเพียงสัญลักษณ์ทางชื่อเท่านั้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น