วันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

กต.แจงไทยถอนตัวภาคีฯมรดกโลกยังไม่มีผลทาง กม.

กระทรวงต่างประเทศแจงยาว การถอนตัวจากการเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลก น่าจะยังไม่มีผลในทางกฎหมาย ต้องรอรัฐบาลจะต้องทำหนังสือแจ้งไปยังสำนักงานมรดกโลกอย่างเป็นทางการ ...
วันที่ ๖ ก.ค. ที่ห้องประชุมศรีณรงค์ ศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ นายพิษณุ จันทร์วิทัน รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นายเจษฎา กตเวทิน รองอธิบกรมสารนิเทศ พร้อมคณะเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ ได้ร่วมประชุมกับหัวหน้าส่วนราชการ ตัวแทนประชาชน หมู่บ้านใกล้แนวชายแดนไทย-กัมพูชา เพื่อชี้แจงการดำเนินงาน ในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาท บริเวณปราสาทพระวิหาร ด้านจังหวัดศรีสะเกษ และปราสาทตาควาย ปราสาทตาเมือน จังหวัดสุรินทร์ ตามรายละเอียดข้อเท็จจริง และตอบข้อซักถาม เพื่อให้มีความคิด ความเข้าใจในทิศทางเดียวกัน ในการรักษาอธิปไตยของไทย และนำไปชี้แจงประชาสัมพันธ์แก่ประชาชน ลดปัญหาความขัดแย้ง และปัญหาอื่นๆที่อาจจะนำไปสู่การปะทะของทหารของทั้งสองประเทศ
โดยเฉพาะกรณีที่ประเทศกัมพูชาได้ยื่นคำขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ( อ ) ตีความคำพิพากษาคดีประสาทพระวิหาร และได้มีคำขอให้ศาลโลกออกมาตรการชั่วคราวตามข้อ ๔๑ ของธรรมนูญศาลโลกในระหว่างที่ศาลพิจารณาคำขอตีความ ๓ ข้อ คือ ขอให้ไทยถอนกำลังทั้งหมดจากส่วนต่างๆ ของดินแดนกัมพูชาในพื้นที่ปราสาทพระวิหาร โดยไม่มีเงื่อนไข ห้ามไทยมีกิจกรรมทางทหารใดๆในพื้นที่ปราสาทพระวิหาร และให้คนไทยงดการกระทำหรือการดำเนินการใดๆที่กระทบสิทธิของกัมพูชา หรือเพิ่มความขัดแย้งในคดีการตีความ จนกว่าศาลโลกจะดำเนินการตีความคำพิพากษาแล้วเสร็จ หลังจากศาลโลกได้พิจารณาและตัดสินคดีปราสาทวิหารไปแล้วเมื่อปี ๒๕๐๕ ซึ่งในเรื่องนี้ได้รับความสนใจจากสาธารณชนคนไทยเป็นอย่างมากกระทรวงการต่างประเทศจำเป็นอย่างยิ่งต้องออกชี้แจงทำความเข้าใจแก่ประชาชนคนไทย ว่าเรื่องดังกล่าวมีผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างไรบ้าง ตลอดจนไทยเองต้องทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เสียเปรียบทางฝั่งของประเทศกัมพูชา
ทั้งนี้ กรณีกัมพูชายื่นคำขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ตีความคำพิพากษาคดีปราสาทเขาพระวิหาร เป็นของประเทศกัมพูชา เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๕ ตลอดทั้งการปฏิบัติตามคำพิพากษาระหว่างประเทศ ที่ประเทศไทยได้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยประเทศไทย ได้ยึดถือแผนที่ที่ยึดสันปันน้ำเป็นหลักในการชี้แนวเขตแดนประเทศไทย และวัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ ก็เป็นวัดที่ตั้งขึ้นในเขตแดนประเทศไทย โดยมีภาพถ่ายที่ถ่ายไว้ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๕ เมื่อไทยแพ้คำพิพากษายุติธรรมระหว่างประเทศ ไทยก็ออกจากปราสาทพระวิหาร และได้สร้างรั้วลวดหนาม กั้นพื้นที่เขตแดนไทยไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งก็บ่งบอกถึงเขตแดนไทยอย่างชัดเจน กรณีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร ขึ้นเป็นมรดกโลก ซึ่งทางรัฐบาลกัมพูชา ได้แจ้งขึ้นทะเบียนไปแล้วนั้น ในกระบวนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก จะต้องมีการจัดแผนบริหารจัดการ พื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร ตลอดทั้ง พื้นที่แนวกันชน จะต้องผ่านความเห็นชอบจากประเทศไทยด้วย ซึ่งฝ่ายกัมพูชา ยังไม่สามารถดำเนินการได้ ในประเด็นนี้
สำหรับการถอนตัวจากการเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลกนั้น นายพิษณุ จันทร์วิทัน รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า น่าจะยังไม่มีผลในทางกฎหมาย ซึ่งจะมีผลจริงๆนั้น รัฐบาลจะต้องทำหนังสือแจ้งไปยังสำนักงานมรดกโลกอย่างเป็นทางการ ขณะนี้ดูเหมือนว่า จะมีการพูดกันมาก ผลดี ผลเสีย ของการถอนตัวจากการเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลก จริงๆแล้วยังไม่มีผลในทางกฎหมาย ต้องดูว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรในเรื่องนี้ ส่วนการตัดสินใจถอนตัวออกมาจากภาคีอนุสัญญามรดกโลก เป็นเรื่องของท่านรัฐมนตรี สุวิทย์ คุณกิตติ ซึ่งท่านเป็นหัวหน้าคณะผู้เจรจามรดกโลกฝ่ายไทย ซึ่งท่านได้ตัดสินใจ ด้วยตัวท่านเอง ท่านอาจจะได้รับข้อมูล หรือท่านเป็นห่วง ในเรื่องดินแดน ที่จะต้องตัดสินใจ ลาออกจากภาคีอนุสัญญามรดกโลก
ด้านนายเจษฎา กตเวทิน รองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า การตัดสินใจลาออกจากภาคีอนุสัญญามรดกโลก ของท่าน สุวิทย์ คุณกิตติ หัวหน้าคณะทำงานเจรจามรดกโลกฝ่ายไทย ยืนยันว่า กระทรวงการต่างประเทศ มีเจ้าหน้าที่ กระทรวงการต่างประเทศ ทำงานกับคณะผู้เจรจามรดกโลกอยู่ถึง ๒ คน การลาออกจากภาคีอนุสัญญามรดกโลก ของท่านสุวิทย์ คุณกิตติ จึงเป็นความเห็น ร่วมกันทุกฝ่ายอย่างใกล้ชิด
นายพิษณุ จันทร์วิทัน รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ยังระบุว่า พื้นที่พิพาทอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดสุรินทร์ ที่บริเวณปราสาทตาควาย ต.บักได และ ปราสาทตาเมือนธม ต.เมียง อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ ซึ่งเกิดเป็นพื้นที่พิพาทกัน และเกิดการประทะกัน ขึ้นเมื่อเดือน เมษายน ๒๕๕๔ ที่ ผ่านมา ทางรัฐบาลกัมพูชา ก็ได้นำไปเป็นประเด็น และฟ้องไปยังศาลโลก ซึ่งเราได้ชี้แจงไปแล้วว่า ไม่ใช่พื้นที่ใกล้กับปราสาทพระวิหาร เพราะเป็นพื้นที่อยู่ไกลกันถึง ๑๔๐ กิโลเมตร ตามแผนที่ของประเทศกัมพูชา ยังระบุว่า บริเวณปราสาทตาเมือนธม กันปราสาทตาควาย ฝ่ายกัมพูชา ระบุว่า ปราสาททั้งสองแห่ง อยู่ในเขตพื้นที่ประเทศกัมพูชา และระบุอีกว่าหลักเขตแดนประเทศไทย กับประเทศกัมพูชา ที่มีการสำรวจปักปันเขตแดนกันมา โดยมีหลักเขตที่ ๑ อยู่ที่ ช่องสะงำ อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ และหลักเขตที่ ๗๓ อยู่ที่ชายแดนไทย-กัมพูชา จ.ตราด สำหรับการแก้ปัญหาระหว่าง ๒ ประเทศ ยังยืนยันว่า บันทึกความเข้าใจ ไทย-กัมพูชา ปี ๒๕๔๓ หรือ MOU ๔๓ ยังจะสามารถเป็นเครื่องมือ ในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คณะทำงานของกระทรวงการต่างประเทศ ยังได้รับข้อร้องเรียนของประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้แนวชายแดนไทย-กัมพูชา อยากให้มีการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทให้จบลงโดยเร็ว เพราะชาวบ้านได้รับผลกระทบเดือดร้อนในเรื่องที่พักอาศัย สัตว์เลี้ยง การทำนา ทำสวนยางพารา ไร่อ้อย มันสำปะหลัง ซึ่งยังหวาดผวา กับการปะทะตามแนวชายแดน ซึ่งคณะทำงานของกระทรวงการต่างประเทศ ได้รับปัญหาของชาวบ้านเพื่อที่จะไปให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป
อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าร่วมประชุม ถามเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศว่า การที่คุณเทพมนตรี ลิปพยอม นักวิชาการอิสระ เดินทางไปร่วมการประชุม คณะกรรมการมรดกโลก กับคณะของคุณสุวิทย์ คุณกิตติ ไปในฐานะอะไร ซึ่งเจ้าหน้าที่ระบุว่า ไม่ทราบ เพียงแต่ว่าสาระสำคัญ ได้ไปช่วยคณะทำงานเจรจาฝ่ายไทยได้มากน้อยแค่ไหน แต่คุณเทพมนตรี ก็ทำงานในกรอบของเขา เมื่อถามว่า การที่มีม็อบต่างๆ เรียกร้องเรื่องกรณีพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณปราสาทพระวิหารกับพื้นที่อื่นๆ ทางเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศเห็นว่าอย่างไร ได้รับคำตอบว่า ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ดีต่อการแก้ไขปัญหามากนัก
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๔

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น