วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

คดีปราสาทพระวิหาร ไทยมีแต่เสมอตัวกับแพ้

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา นายมาร์ตี้ นากาเลกาวา รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ในฐานะ ประธานอาเซียน ได้ออกแถลงการณ์ แสดงความยินดีที่ไทยและกัมพูชา แสดงความเคารพต่อคำสั่งศาลโลก และแสดงความตั้งใจที่จะนำคำสั่งดังกล่าวไปปฏิบัติตามพันธกรณีทางกฎหมายระหว่างประเทศ

ในตอนท้ายแถลงการณ์ระบุว่าอาเซียนสนับสนุนให้อินโดนีเซียประธานอาเซียน ปรึกษาหารือกับไทยและกัมพูชาต่อไป รวมถึงการส่ง คณะผู้สังเกตการณ์ จาก อินโดนีเซีย โดยไม่ช้าด้วย

คำสั่งของศาลโลกฉบับนี้ มีหลายฝ่ายแสดงความข้องใจว่า ไทยเป็นฝ่ายแพ้เขมร แต่ นายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีต่างประเทศ ก็ยืนยันว่าไทยไม่แพ้ แถมยังแสดงความพึงพอใจต่อคำสั่งของศาลโลกฉบับนี้ โดยประกาศว่าพร้อมจะปฏิบัติตาม แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องถอนทหารพร้อมกันทั้งสองฝ่าย

ผมฟังแล้วก็ยังงงๆ ในเมื่อ ศาลโลกไม่รับคำร้องค้านฝ่ายไทย แต่ รับคำร้องฝ่ายเขมร แถมยังมีคำสั่งตามคำร้องฝ่ายเขมร ออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราว และสั่งให้ไทยปฏิบัติตามด้วย แล้วมันน่าพอใจตรงไหน

วันก่อนไปเจอเพื่อนผู้พิพากษา ก็เลยถามด้วยความข้องใจ

ฟังคำตอบท่านผู้พิพากษาแล้วก็ถึงบางอ้อ ท่านบอกว่า เมื่อศาลโลกไม่รับคำร้องฝ่ายไทย แต่รับคำร้องฝ่ายเขมร ก็เท่ากับว่า ฝ่ายไทยตกเป็นรอง ไปแล้ว ในอนาคต ไม่ว่าศาลโลกจะพิพากษาออกมาอย่างไร ไทยก็มีแต่ "เสมอตัว" กับ "แพ้" สองทางเท่านั้น ไม่มีทางชนะเลย เช่น ศาลโลกตีความว่าพื้นที่เฉพาะปราสาทพระวิหารที่เป็นของเขมร ไทยก็เสมอตัว แต่ถ้าศาลโลกตีความว่าพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารเป็นของเขมรด้วย ไทยก็ต้องเสียดินแดนอีกครั้งแน่นอน

เมื่อได้ฟังอย่างนี้ ผมจึงไม่แปลกใจที่เห็น นายกฯฮุน เซน ผู้นำเขมร ออกมาขานรับยินดีจะเจรจากับไทยเรื่องการถอนทหาร แต่ นายกฯฮุน เซน ยืนอย่างมีชั้นเชิงว่า กัมพูชาจะไม่ถอนทหารออกจากพื้นที่ จนกว่าจะมีผู้สังเกตการณ์จากอินโดนีเซียเข้าไปด้วย เพื่อกดดันไทยให้เดินไปตามเกมที่ นายกฯฮุน เซน กำหนด

ไม่เพียงแค่นี้ นายกฯฮุน เซน ผู้นำกัมพูชา ยังเดินเกมสองกดดันไทยต่อด้วยการ ส่งร่างข้อเสนอที่จะตกลงกับไทย ที่ ฝ่ายกัมพูชาร่างขึ้นเอง มายัง ฝ่ายไทย และส่งไปยัง อินโดนีเซีย กับ ศาลโลก โดยระบุให้ ไทย กัมพูชา และ ผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซีย แจ้งต่อศาลโลก เกี่ยวกับรายละเอียดของเจ้าหน้าที่ทหารและจุดประจำการในเขตปลอดทหาร

ขณะที่ นายกฯอภิสิทธิ์ ยังแผ่นเสียงตกร่องเดิม ยืนยันสองฝ่ายต้องเจรจาถอนทหารก่อน เรื่องผู้สังเกตการณ์เป็นอีกเรื่อง แต่ก็ไม่เห็นมีการเดินเกมใดๆ เพื่อกดดันให้อาเซียนเห็นชอบกับข้อเสนอของไทย

ที่แย่กว่านั้น กระทรวงต่างประเทศ ยุค นายกษิต ภิรมย์ เป็นรัฐมนตรี ก็ยังงงๆ ไม่รู้จะเดินหน้าต่อกันอย่างไร หลังจากที่ ประธานอาเซียน ออกแถลงการณ์ไปแล้ว รัฐมนตรีกษิต ได้แต่เรียกประชุมกรมกองที่เกี่ยวข้องในกระทรวง บอกจะขอคุยภายในก่อน จะทำคู่ขนานไปกับการส่งมอบงานให้รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ โบ้ยไปโน่น

ไม่น่าเชื่อ จนป่านนี้ยังคุยกันภายในไม่รู้เรื่อง แล้วจะไปสู้รบกับใคร

เห็นการทำงานของ รัฐบาลนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ การเดินเกมการเมืองระหว่างประเทศ ในเรื่องนี้แล้ว คนไทยอาจต้องเสียใจซ้ำสอง เพราะโอกาสที่จะแพ้ และ เสียดินแดน

ครั้งที่สอง ซ้ำรอยรัฐบาลประชาธิปัตย์ในปี 2505 เป็นไปได้สูงยิ่ง ผมก็ได้แต่ภาวนา ขอให้ "เสมอตัว" ก็พอใจแล้ว หวังว่า คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกฯ จะดู รัฐบาลมาร์ค ไว้เป็นบทเรียนเพื่อเลือกรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ ขออย่าให้เหมือนเดิม.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น