วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ลุ้น3แนวทาง ศาลโลกวันนี้ ชี้คดีพระวิหาร

ลุ้นบ่ายสาม 18 ก.ค. ศาลโลกตัดสินคำร้องกัมพูชา ให้ไทยถอนทหารออกจากพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร ด้าน เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก ยันทำเต็มที่ คาดมีความเป็นไปได้ 3 แนวทาง...
ลุ้นบ่ายสาม 18 ก.ค. ศาลโลกตัดสินคำร้องกัมพูชา ที่ให้ไทยถอนทหารออกจากพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก ยันทำเต็มที่ชี้แจงข้อมูลเป็นประโยชน์ต่อประเทศ มองเกมเป็นไปได้ 3 แนวทางออก ขณะที่ "กษิต" เตรียมโฟนอินกลับไทยทันทีหลังรู้คำพิพากษา ด้านแม่ทัพภาค 2 ระบุ ผบ.ทบ.ยังไม่มีคำสั่งพิเศษ แต่ให้ทหารรักษาอธิปไตยตามแนวชายแดนให้ดี ส่วน "ไก่อู" บอกแล้วแต่รัฐบาลสั่งมา เพราะกองทัพไม่มีภาระผูกพันกับศาลโลก แต่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดนค้าน หากต้องถอนทหารออกจากพื้นที่พิพาท พร้อมปลุกพลังรักชาติ เฝ้าจับตาพวกแปลกหน้าลอบเข้าหาข่าว
จากกรณีที่รัฐบาลกัมพูชาได้ยื่นคำร้องต่อศาลโลกให้มีการตีความคำสั่งศาลระหว่างประเทศเกี่ยวกับการครอบครองประสาทพระวิหาร รวมถึงการเรียกร้องให้ ผู้พิพากษาอนุมัติมาตรการชั่วคราว หรือสั่งให้ไทยถอนกำลังทหารจากพื้นที่และห้ามทำกิจกรรมทางทหารของไทยทั้งหมดในทันทีในพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ โดยศาลโลกนัดแถลงคำวินิจฉัยในวันที่ 18 ก.ค.นี้แล้ว
แต่เมื่อวันที่ 17 ก.ค. นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก ในฐานะผู้แทนไทยที่ให้ข้อมูลต่อศาลโลกในคดีปัญหาเขาพระวิหาร กล่าวถึงแนวโน้มคำพิพากษาของศาลโลกต่อกรณีปัญหาประเทศกัมพูชาร้องขอให้ศาลโลกออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวกรณีปราสาทพระวิหารว่า เป็นไปได้ใน 3 แนวทาง คือ 1.ศาลโลกยกคำร้องของกัมพูชา และอาจจะจำหน่ายคดีนี้ 2.รับคำร้องของประเทศกัมพูชา และมีคำร้องให้ออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ที่จะส่งผลให้ฝ่ายไทยต้องถอนทหารออกจากพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร หรือศาลอาจจะมีคำสั่งที่เบาบางกว่านั้น และ 3. มีคำสั่งแต่ไม่ตรงกับที่ฝ่ายกัมพูชาร้องขอ เช่น มีมาตรการให้ 2 ฝ่ายดำเนินการที่มีภาระร่วมกัน เพื่อลดการเผชิญหน้าตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ทั้งนี้ ตนเห็นว่าแนวทางที่ดีที่สุดคือในแนวทางแรก อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการชี้แจงของฝ่ายไทยในศาลโลกที่ผ่านมาได้มีการเตรียมข้อมูลมาหลายปี และทำดีเท่าที่จะทำได้ในกรอบของการ รับมรดกคดีเก่าที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยมา และการให้การในศาลโลกในวันที่ 30-31 พ.ค.ที่ผ่านมา ทางคณะฝ่ายไทยได้ทำงานอย่างเต็มที่และเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยแล้ว
"ผมมีความเชื่อมั่นในความยุติธรรมของศาลโลก และหวังว่าจะใช้คดีนี้ยืนยันความยุติธรรมของศาลโลกอีกครั้ง" นายวีรชัยกล่าว
ขณะที่นายเจษฎา กตเวทิน รองอธิบดีฝ่ายสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในวันที่ 18 ก.ค.นี้เวลา 17.00 น. หลังการตัดสินคำร้องให้มีการตีความคำสั่งศาลระหว่างประเทศเกี่ยวกับการครอบครองประสาทพระวิหาร รวมถึงการเรียกร้องให้ผู้พิพากษาอนุมัติมาตรการชั่วคราว หรือสั่งให้ไทยถอนกำลังทหารจากพื้นที่และห้ามทำกิจกรรมทางทหารของไทยทั้งหมดในทันทีในพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ จะให้สัมภาษณ์ผ่านทางโทรศัพท์จากกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ถึงกรณีดังกล่าว
ในส่วนของกองทัพ วันเดียวกัน พล.ท.ธวัชชัย สมุทรสาคร แม่ทัพภาคที่ 2 กล่าวถึงกรณีที่ศาลโลกจะตัดสินคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวของกัมพูชากรณีปราสาทพระวิหารในวันที่ 18 ก.ค.ว่า เป็นเรื่องของผู้บังคับบัญชาระดับข้างบนจะสั่งการลงมา ขณะนี้เราต้องรอว่าศาลโลกจะตัดสินอย่างไร จากนั้นผู้บังคับบัญชาคงจะหารือกันตั้งแต่ระดับของรัฐบาลที่จะกำหนดแนวทางปฏิบัติลงมาผ่านทางกระทรวงกลาโหมและกองทัพบก อย่างไร ก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ไม่ได้เน้นย้ำอะไรเป็นพิเศษ เพียงแต่ให้ดูแลอธิปไตยตามแนวชายแดนให้ดี ซึ่งเราก็ทำอยู่เป็นปกติ ยึดตามแผนที่ที่เราถือ สำหรับสถานการณ์ตามแนวชายแดนขณะนี้ทุกอย่างยังไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง
เมื่อถามว่า กำลังของเราพร้อมที่จะดูแลปกป้องชายแดนหรือไม่ พล.ท.ธวัชชัยตอบว่า เรามีความเตรียม พร้อมอยู่ตลอดเวลา รอแค่เพียงคำสั่งของผู้บังคับบัญชาว่าจะออกมาอย่างไร พร้อมที่จะปฏิบัติตามเพื่อดูแลอธิปไตยของเรา
ด้าน พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก กล่าวว่า กองทัพบกไม่มีภาระผูกพันกับศาลโลก เราปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาล รัฐบาลมีอำนาจที่จะตกลงใจตามแนวทางที่เห็นเหมาะสม กองทัพเป็นหน่วยงานของรัฐ ศาลโลกตัดสินอย่างไรก็เป็นเรื่องของศาลโลก กองทัพมีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาล
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีกระแสข่าวศาลโลกมีแนวโน้มจะตัดสินคุ้มครองชั่วคราวให้กัมพูชา ทางไทยจำเป็นต้องถอนทหารจากพื้นที่หรือไม่ โฆษกกองทัพบกตอบว่า รัฐบาลจะต้องเป็นผู้พิจารณา และกองทัพจะปฏิบัติตามนโยบายนั้น
"กองทัพไม่ได้มีหน้าที่และภาระผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาลโลก แต่เราปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลไทยเท่านั้น ศาลโลกจะตัดสินออกมาอย่างไร รัฐบาลไทยต้องเป็นผู้พิจารณาว่าจะปฏิบัติตามคำตัดสินหรือไม่ หรือต้องทำอะไรต่อไป ต้องสั่งการมา" พ.อ.สรรเสริญกล่าว
กระนั้นการตัดสินของศาลโลกในเรื่องนี้ ได้สร้าง ความกังวลใจให้กับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดนไม่น้อย และมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มเครือข่าย พิทักษ์ปราสาทพระวิหาร โดยที่ จ.ศรีสะเกษ เครือข่ายประชาชนคนกันทรลักษ์พิทักษ์ปราสาทพระวิหารออกมาเคลื่อนไหวโดยได้นำป้ายขนาดใหญ่ปิดที่บริเวณสี่แยกเมืองทอง เขตเทศบาลเมืองกันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ จากกรณีที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลกจะมีคำวินิจฉัยเรื่องที่ทางประเทศกัมพูชาได้ร้องขอให้ออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวปราสาทพระวิหาร โดยป้ายที่ติดไว้มีข้อความว่า "รวมพลังไทยรักชาติ ทวงคืนเขาพระวิหารและอธิปไตยของชาติ" พื้นหลังเป็นภาพปราสาทพระวิหาร และธงชาติออกปิดประกาศตามสี่แยกในตัวเมืองอำเภอกันทรลักษ์ ส่วนบรรยากาศตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาด้านปราสาทพระวิหาร ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ อยู่ในภาวะสงบ ชาวบ้านยังออกประกอบอาชีพตามปกติ และเฝ้าติดตามข่าวสารสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ขณะที่นายทองคำ กันทวงศ์ ชาวบ้านภูมิซรอล ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยหากต้อง ถอนทหารไทยออกจากพื้นที่ เพราะชาวบ้านยังไม่ค่อยไว้วางใจสถานการณ์ชายแดนเท่าใดนัก ซึ่งต่างก็ยังติด ตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งสังเกตบุคคลแปลกหน้าที่เข้ามาในพื้นที่เพื่อป้องกันการลักลอบเข้ามาหาข่าวของฝ่ายตรงข้าม ส่วนความเคลื่อนไหวฝั่งกัมพูชาพบว่ามีพลเรือนชาวกัมพูชา เดินทางขึ้นมาบริเวณปราสาทพระวิหาร แต่มีจำนวนไม่มากนัก บรรยากาศโดย รวมตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ด้านเขาพระวิหาร ยัง คงเป็นปกติ
ทั้งนี้ การพิจารณาของศาลโลกในกรณีนี้ เบื้องต้นสำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นายฮิซาชิ โอวาดะ ประธานศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก จะอ่านคำวินิจฉัยคำร้องดังกล่าว ในเวลา 10.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือเวลา 15.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย พร้อม กับการตัดสินร่วมกับคณะผู้พิพากษาศาลโลกอีก 14 คน และผู้พิพากษาเฉพาะกิจอีก 2 คน
ต่อมาช่วงค่ำวันเดียวกัน นายกษิต ภิรมย์ รมว. ต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ถึงการวินิจฉัยของศาลโลกกรณีปราสาทพระวิหารว่า คำตัดสินจะเป็นอย่างไรนั้นไม่ทราบ แต่ที่ผ่านมาเราได้เตรียมตัวมาเกือบ 2 ปี ได้ทำงานร่วมกันกับที่ปรึกษากฎหมายทั้ง 3 ท่านมาโดยตลอด เชื่อว่ามีการค้นคว้าเอกสารต่างๆ เชื่อว่าเราเตรียมตัวมาพอสมควร อีกทั้งการนำเสนอข้อมูลของไทยต่อศาลโลกในวันที่ 30-31 พ.ค.ที่ผ่านมา ครอบคลุมทั้งเหตุผลและหลักกฎหมาย ตนได้ฟังในฐานะผู้ที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงกฎหมาย แต่ก็ทำงานในแวดวงระหว่างประเทศมาตลอด เห็นว่ามีความหนักแน่น การนำเสนอข้อมูลของนายวีรชัย พลาศัย เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก ในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทย และที่ปรึกษากฎหมาย รวมทั้ง 4 ท่าน ถือว่าทำได้ดีมาก ดังนั้น หากจะเปรียบก็เหมือนทีมฟุตบอล มันไม่ได้อยู่ที่วันเล่นอย่างเดียว แต่คิดว่าเราเตรียมตัวมาแล้วอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ตนก็ยังเชื่อในความเป็นมืออาชีพและความซื่อตรงต่อหน้าที่ของผู้พิพากษาทั้ง 15 ท่าน
นายกษิตกล่าวต่อว่า ขอถือโอกาสนี้พูดในฐานะที่กำลังจะก้าวพ้นจากตำแหน่ง และไปอยู่ในฝ่ายค้านว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่ต้องเป็นการเมืองภายใน แต่ต้องถือเป็นเรื่องของประเทศชาติ ทุกคนต้องร่วมกันคิด คนที่จะเป็นตัวตั้งในการทำงานต่อไปคือข้าราชการ และเมื่อเป็นเรื่องของชาติ ก็ต้องมีความต่อเนื่อง ไม่ควรเอาเรื่องนี้มาใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองภายใน ดังเช่นรัฐบาลอภิสิทธิ์ประสบมา และในฐานะที่เป็นฝ่ายค้าน ก็ยินดีที่จะให้ความร่วมมือ ในการทำงานกันต่อไป ผู้สื่อข่าวถามว่า ไม่ว่าคำตัดสินจะเป็นอย่างไรในวันที่ 18 ก.ค. คิดว่าเราพร้อมทำตามใช่หรือไม่ นายกษิตกล่าวว่า ในหลักการเราเป็นสมาชิกที่ดีของสหประชาชาติและศาลโลก ก็เป็นส่วนหนึ่งภายใต้สหประชาชาติ เราต้องเคารพคำตัดสิน ส่วนรายละเอียดของเนื้อหาที่ศาลจะตัดสิน ขณะนี้ยังไม่สามารถรู้ได้ว่าจะเป็นอย่างไร
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๔

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น