วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

“เขาพระวิหาร”ความเสี่ยงบนทาง”สองแพร่ง”เมื่อศาลโลกรับตัดสิน
















นายดอน ปรมัตถ์วินัย อดีตเอกอัครราชทูตและผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ กล่าวกับทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ เหตุที่ชี้ว่า กรณีศาลโลกมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวออกมาตามคำร้องขอของกัมพูชา การที่ศาลโลกมีมติ 15 ต่อ 1 ห้ามไทยขัดขวางการส่งกำลังบำรุง อาหารและน้ำดื่ม รวมถึง ต้องสนับสนุนกัมพูชาในการพัฒนาพื้นที่ เป็นจุดเริ่มต้นที่จะเดินไปถึงจุดจบ กรณีปัญหาความขัดแย้งปราสาทพระวิหารและพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม. ระหว่างไทย-กัมพูชา ที่กินเวลายาวนานเกือบ50 ปี
เนื่องจากในความคิดเห็นส่วนตัว เห็นชัดว่า แนวโน้มของคณะผู้พิพากษาศาลโลกน่าจะมีความคิดเห็นเป็นอย่างไร เพราะศาลโลกไม่เอาและไม่เห็นด้วยกับ ความคิดเห็นไทย ที่ให้ยกคำร้องจำหน่ายคดีออกจากสารบบ แล้วการที่ศาลโลก มีมติห้ามเฉพาะฝ่ายไทย ที่เป็นกำลังทหารอยู่ใน พื้นที่ทับซ้อนต้องถอนทหารออกมา แม้กัมพูชาเองก็ต้องถอนทหารเช่นกัน คือกำหนดเขตปลอดทหารทั้ง 2 ฝ่าย ที่กินพื้นที่ถึงประมาณถึง 17.3 ตร. กม.นั้น ต้องไม่ลืมว่า ฝ่ายกัมพูชายังมีชุมชน พระสงฆ์ และวัดของกัมพูชาตั้งอยู่ในพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร. กม. อยู่โดยที่ไม่สามารถมีใครเข้าไปผลักดันได้ เมื่อคณะผู้สังเกตการณ์จากอินโดนีเซียลงพื้นที่สังเกตการณ์ จะมีความคิดเห็นเป็นอย่างไร แน่นอนคิดอย่างอื่นคงไม่ได้ ก็ต้องคิดว่าเป็นพื้นที่ของประเทศเพื่อนบ้าน
ดอน ปรมัตถ์วินัย

ดอน ปรมัตถ์วินัย

"ดังนั้นจึงเห็นว่า แนวโน้ม กรณีที่กัมพูชายื่นให้ศาลโลกตีความขอบเขตคำพิพากษากรณีตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา เมื่อปี 2505 ที่ถือเป็นโจทย์ข้อใหญ่ และศาลน่าจะมีการชี้ให้เด็ดขาดในเดือน ส.ค.ปี 2555 นี้ ก็ชัดแล้วว่า หวยน่าจะออกไปในทิศทางใด เพราะศาลห้ามเฉพาะไทย แต่ประชาชนและพระสงฆ์ ชาวกัมพูชาก็ยังสามารถอยู่ในพื้นที่ ที่ไทยอ้างว่า รุกล้ำดินแดนโดยไม่ต้องถอยออกไป ซึ่งไทยเองก็ทำอะไรไม่ได้ เมื่อถึงเวลาตัดสินคดีดังกล่าว ก็อดที่จะคิดไม่ได้ เพราะเห็นความชัดเจนว่าแนวโน้มที่จะนำไปสู่จุดนั้น แต่ถ้าคิดอีกที ก็ถือเป็นสิ่งดีที่ปัญหาจะยุติได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าสุดท้ายแล้วไทยจะชอบหรือไม่ก็ตาม" นายดอนกล่าว…
ขณะที่กรณี หากไทยเห็นแนวโน้มแล้ว ยังสามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงอะไรได้อีกหรือไม่ รวมถึง ข้อเรียกร้องจากนักวิชาการบางกลุ่ม ที่ออกมาเรียกร้องให้ไทยประกาศไม่รับคำตัดสินของศาลโลก นายดอน กล่าวอีกว่า จริงอยู่ ที่ผ่านมา ศาลโลกเคยตัดสิน คดีที่มีลักษณะเดียวกันกับ ไทย-กัมพูชา มาแล้วจำนวน ถึง16-17 คดี แล้วมีประมาณถึง 10 คดี ที่ประเทศคู่ขัดแย้ง ประกาศไม่รับคำตัดสินของศาลโลก แต่หากไทยประกาศไม่รับคำตัดสินของศาลโลกบ้าง น่าจะมีผลกระทบในระยะยาว
"ซึ่งคนไทยก็ต้องถามใจตัวเองด้วยว่า ประเทศเคยถือเป็นเด็กดีมาตลอดในสายตาของนานาชาติ แล้วถ้าเด็กดีอย่างไทยจะเกิดเฮี้ยวขึ้นมาซักหนจะเป็นอะไรหรือไม่ อย่างไร ภาพความน่าเชื่อถือของประเทศที่เคยสะสมมาอย่างดี และยาวนาน ในสายตานานาชาติก็ต้องเปลี่ยนไป ส่วนอีก แนวทางหนึ่ง จะทำตัวให้เป็นผู้ใหญ่ ยอมรับคำตัดสินแล้วต้องเปิดการเจรจากับกัมพูชา โดยใช้โอกาสนี้แก้ปัญหาระหว่าง 2ประเทศในกรณีอื่นๆไปด้วยพร้อมกันในตัว"นายดอน กล่าว
ทั้งนี้นายดอนระบุว่า ถึงแม้แนวโน้มที่เห็น จะเป็นเช่นนั้นไม่สามารถตีความอย่างอื่นได้ แต่ทุกสิ่งทุกอย่างมันก็ต้องมีทาง ส่วนตัวเชื่อว่า สมองของมนุษย์หรือคนนี่ละ คือสิ่งมหัศจรรย์ ที่เป็นสุดยอดที่สุดในโลก ดังนั้นเชื่อว่าจะมีแนวทางแก้ไขได้ เพียงแต่ทุกคนต้องช่วยกันคิด ช่วยกันทำอย่างเต็มที่เท่านั้น
ปณิธาน วัฒนายากร

ปณิธาน วัฒนายากร

ในขณะที่ด้าน รศ.ดร. ปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวกับทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ว่า จากการประเมินหลังจากที่ศาลโลกมีคำสั่งให้ทั้ง 2ฝ่าย ต้องถอนทหารออกจากพื้นที่ ปราสาทพระหารและบริเวณโดยรอบแล้ว ทางกรมแผนที่ทหารของไทย ประเมินในเบื้องต้นว่า ไทยต้องถอนทหารออกมาเป็นพื้นที่ 8.5 ตร.กม. ส่วนฝั่งกัมพูชา กินพื้นที่ถึง 8.8 ตร.กม. รวมเป็นพื้นที่ประมาณ 17.3 ตร.กม. อันนี้ต้องขอออกตัวก่อนว่า ยังเป็นการประเมิน ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย ไม่ทราบว่าทางฝั่งกัมพูชา จะมีความเห็นอย่างไร
รศ.ดร. ปณิธาน ยังชี้อีกว่า ถ้าใช้แผนที่ของของเดิมที่กัมพูชาใช้อ้างอิงมาตลอด หนักกว่าเก่าเพราะ กัมพูชาอาจต้องถอนทหารถึง กว่า 13 ตร.กม. ดังนั้น เชื่อว่า สิ่งนี้ จะ ทำใ ห้ทางกัมพูชาต้องพิจารณาใหม่ เนื่องจากเชื่อว่า ทางกัมพูชาเองก็คาดคิดไม่ถึงเช่นกัน ทั้งที่เป็นฝ่ายนำเรื่องเข้าไปฟ้องไทยและขอให้ศาลโลกออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราว แต่สุดท้ายตัวเองก็ต้องถอนทหารออกจากพื้นที่ด้วยเช่นกัน
ทำให้ส่วนตัวเชื่อว่ามีแนวโน้มสูง กัมพูชาอาจจะต้องตัดสินใจหันกลับมาใช้กลไกทวิภาคีการประชุมเจบีซี และ จีบีซี ที่มีอยู่เดิมในการเจรจา ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีความ พยายามจะหลีกเลี่ยง รวมทั้งหยิบยกปัญหาขึ้นสู่เวทีระดับโลกมาโดยตลอด แต่คงอาจต้องรอให้ไทยมีรัฐบาลใหม่ก่อน
เนื่องจากถึงขณะนี้เอง กัมพูชาก็เริ่มมีความไม่มั่นใจแล้วเช่นกัน แล้วที่ศาลโลกออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราว เป้าหลักคือต้องการลดความสุ่มเสี่ยงการเผชิญหน้าของกำลังทหารเพื่อป้องกันเกิดการสูญเสียทั้ง 2ฝ่าย ซึ่งศาลชี้ว่าไม่เกี่ยวข้องกับกรณี การขอให้ศาลโลกชี้ขอบเขตของคำตัดสินให้ปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชาเมื่อปี2505 หรือเรื่องขอบเขต หรือเขตแดนแต่อย่างใด
รศ.ดร.ปณิธาน กล่าวอีกว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยืนยัน ยังไม่มีการถอนทหารออกจากพื้นที่พิพาทใ ห้เป็นไปตามคำสั่งของศาลโลก โดยนายกฯได้สั่งให้หน่วยงานด้านความมั่นคง ไปประชุมหารือและจัดทำข้อเสนอ และข้อมูลข้อเท็จจริงมาทั้งหมดเพื่อใช้ในการตัดสินใจ ดำเนินการ รวมไปถึงในด้านกฎหมายด้วย ส่วนใดที่ทำได้ก่อนก็จะดำเนินการ ส่วนใดต้องรอรัฐบาลใหม่ตัดสินใจ ก็คงต้องรอให้เข้ามารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ แล้วจึงค่อยไปเจรจากับทางกัมพูชา เรื่องการถอนทหารอีกครั้ง
ทั้งหมดคือความคิดเห็นที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งยังไม่มีใครสามารถตอบได้ว่าสุดท้ายผลลัพธ์จะออกมา อย่างไร ตอนนี้ทำได้เพียงต้องช่วยกันแก้ไข คิดหาทางออกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย และภาวนาให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกปักรักษาและคุ้มครองประเทศให้ปลอดภัยเท่านั้น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น