21 ก.ค. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ขอให้ไทยส่งเอกสารข้อสังเกตเพิ่มเติมเกี่ยวกับคดีปราสาทพระวิหารไปให้ภายในวันที่ 22 ก.ค.ว่า เป็นการขอให้ไทยส่งข้อสังเกตที่เกี่ยวกับการพิจารณาคดี ที่สำคัญคือ กรอบเวลาในการส่งคำชี้แจงในคดีหลัก ที่ยังไม่ได้เริ่มต้นในการให้ส่งคำชี้แจงต่างๆ ยืนยันว่า ข้อสังเกตที่จะส่งไป ยังไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของคดีหลัก เป็นเพียงการตกลงเรื่องกรอบเวลาในการส่งเอกสารไปชี้แจง ซึ่งเท่าที่สอบถามจากกระทรวงการต่างประเทศเมื่อคืนวันที่ 20 ก.ค. ได้รับการยืนยันว่า น่าจะใช้เวลาราว 3-4 เดือน เพื่อให้สามารถตัดสินคดีได้ ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงองค์คณะ 5 ใน 15 คน ภายในเดือนก.พ.ปี 2555
ผู้สื่อข่าวถามถึงการถอนทหารว่า ทางกัมพูชาได้ติดต่อมาหรือยังว่าจะเจรจากับไทยเมื่อใด นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ยังไม่มี มีแต่การพูดเรื่องการเอาผู้สังเกตการณ์จากอินโดนีเซียเข้ามา ท่าทีเรายังเหมือนเดิม ถ้าจะให้ผู้สังเกตการณ์เข้ามา จะต้องให้ทหารออกไปจากพื้นที่ก่อน ซึ่งมุมมองยังไม่ตรงกัน ทั้ง 2 ฝ่ายจึงต้องพูดคุยกันก่อน
เมื่อถามว่า จุดยืนฝ่ายไทยต่อการส่งผู้สังเกตการณ์คืออะไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ควรจะต้องคุยขั้นตอนต่างๆ ให้เรียบร้อยก่อน ไม่ควรจะทำให้เกิดความเข้าใจผิด
เมื่อถามอีกว่า ฝ่ายกัมพูชาจะอ้างคำสั่งของศาลโลก เพื่อดึงผู้สังเกตการณ์เข้ามาทันทีได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้ากัมพูชาจะอ้างคำสั่งศาล ก็ต้องถอนทหารทันทีก่อน เพราะกัมพูชาเป็นฝ่ายไปขอศาล และศาลบอกให้กัมพูชาถอนทหารทันที
ต่อข้อถามว่า ก่อนที่อินโดนีเซียจะดำเนินการอะไร ควรจะถามมาไทยก่อนหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในกรอบที่อินโดนีเซียจะดำเนินการ ต้องมีการพูดคุยกันอย่างน้อย 2 ฝ่าย 3 ฝ่าย และอาจรวมไปถึงอาเซียน
เมื่อถามว่า แปลว่าเวลานี้กัมพูชายังไม่แสดงท่าทีว่าจะคุยกับไทยเมื่อใด นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ยัง มีแต่การออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ไทยปฏิบัติ แต่ไม่ได้บอกว่ากัมพูชาจะปฏิบัติหรือไม่ และเมื่อใด
ผู้สื่อข่าวถามว่า ท้ายสุดกัมพูชาจะยอมคุยกับไทยหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า หนีไม่พ้นหรอก เพราะจากการประชุมอาเซียนครั้งสุดท้าย ชัดเจนว่าอินโดนีเซียก็อยากให้ทั้ง 2 ฝ่ายคุยกัน ส่วนคุยกันแล้วจะมีใครนั่งฟังอยู่ด้วยหรือไม่ เป็นอีกเรื่อง
เมื่อถามว่า การพูดคุยในเวทีอาเซียน ควรจะเกิดก่อนมีผู้สังเกตการณ์เข้ามาหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้ากัมพูชายืนยันว่า เคารพการตัดสินของศาล ควรจะมาคุยกับไทยเรื่องการถอนทหาร เพราะประเด็นหลักคือการลดความตึงเครียด และความสุ่มเสี่ยงต่อการปะทะกันบริเวณชายแดน
เมื่อถามว่า แปลว่าถ้ายังนับหนึ่งเรื่องการพูดคุยกันไม่ได้ การส่งผู้สังเกตการณ์เข้ามา ก็ยังเป็นเรื่องยาก นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนคิดว่ายังเป็นเรื่องยาก ส่วนการพูดคุยกัน จะมีฝ่ายอื่นเข้ามาร่วมรับฟังด้วยหรือไม่ ยังเป็นรายละเอียดที่ควรจะให้กระทรวงต่างประเทศและกระทรวงกลาโหมไปหารือว่า จะพูดคุยกันในรูปแบบใด และจะทาบทามให้กัมพูชามาพูดคุยกับไทยอย่างไร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น