วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2554

"อยุธยา" เมืองใหม่ บนที่ราบลุ่มต่ำรับน้ำท่วม

เมื่อนั่งรถออกจากกรุงเทพฯไปตามถนนพหลโยธิน ครั้นเข้าเขต อ. วังน้อย จะมองเห็นยอดเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคลอยู่ลิบๆ
โดยเบื้องหน้ามีต้นข้าวตั้งท้องอ้วนท้วนเต็มที่ในเดือนสิบเอ็ดน้ำนอง เดือนสิบสองน้ำทรง
พันธุ์ข้าวที่ปลูกบนพื้นที่นี้ ถ้ามีน้ำนองหลากท่วมต้นข้าวมิดใบวันนี้ พรุ่งนี้ต้นข้าวจะทะลึ่งชูใบขึ้นเหนือน้ำได้ เพราะเป็นต้นข้าวพันธุ์หนีน้ำท่วมที่ท่วมทุกปีไม่มีเว้น
ข้าวหนีน้ำ เป็นข้าวพันธุ์พิเศษ แข็งแรง เมื่อน้ำท่วมมิดต้นใบก็โตหนีน้ำท่วมได้ มีตัวอย่างลำต้นและใบพร้อมรากยาว วัดทั้งหมดได้มากกว่า 1 วา หรือราว 2 เมตร สูงกว่าคนปกติ
แต่เดิมพื้นที่ทุ่งนาของ อ. วังน้อย, อ. อุทัย, ต่อเนื่อง อ. เมือง จ. พระนครศรีอยุธยา เป็น"พื้นที่สีเขียว" ต้องสงวนไว้สำหรับการเกษตรกรรมและรับน้ำธรรมชาติ
ตั้งแต่ราว พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา รัฐบาลสมัยนั้นประกาศยกเลิกพื้นที่สีเขียว แล้วกำหนดเป็นเขตส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรม ซึ่งเท่ากับรุกเข้าไปยึดพื้นที่รับน้ำธรรมชาติให้เหลือน้อยลงหรือหมดไป
นับแต่นั้นโรงงานอุตสาหกรรมก็มีขึ้นเต็มทุ่งนา รวมทั้งรุกล้ำแหล่งประวัติศาสตร์โบราณคดี แล้วตามมาด้วยชุมชนเมืองใหม่ของคนหลากหลาย ทั้งคนทำมาหากินค้าขายและด้วยการรับจ้างทั่วไปกับคนใช้แรงงานในโรงงาน
มีผู้คัดค้านรัฐบาลว่าบริเวณที่ราบลุ่มกว้างใหญ่นี้ เป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์ที่สุด เพราะเมื่อน้ำหลากจะพัดพาตะกอนโคลนตมมาถมทับทุกปี เท่ากับมีปุ๋ยวิเศษมาโดยธรรมชาติ ใช้เพาะปลูกหล่อเลี้ยงกรุงศรีอยุธยามามากกว่า 500 ปีมาแล้ว จึงเหมาะสงวนไว้เป็นพื้นที่สีเขียวทำเกษตรกรรมเข้ากับอยุธยาเมืองประวัติศาสตร์
นอกจากนั้นบริเวณนี้เป็นพื้นที่ราบลุ่มมีน้ำท่วมทุกปี จึงไม่เหมาะเป็นเขตอุตสาหกรรมที่ต้องมีชุมชนหนาแน่นโดยรอบ
รัฐบาลโลภมาก มีผลประโยชน์ทับซ้อนของสังคมไร้ระเบียบ ไม่ฟังเสียงทักท้วง
นับแต่นั้นโรงงานและชุมชนก็เกิดขึ้นอย่างรีบร้อนและรวบรัด โดยมิได้วางแผนรับมือปัญหาน้ำหลาก จึงสร้างทุกอย่างลงที่ลุ่มต่ำขวางทางไหลหลากของน้ำ
ผลคือผู้คนเดือดร้อนแสนสาหัสเห็นอยู่แล้ว
แนวทางแก้ไขให้บรรเทาความเดือดร้อนในอนาคตมีไม่มากนัก
แต่ทางหนึ่งมีผู้รู้แนะนำว่าต้องมีพื้นที่รับน้ำแล้วสร้างทางน้ำไหลให้เบี่ยงเบนออกจากชุมชนไปลงแม่น้ำใหญ่ไหลออกทะเล
ส่วนทางอื่นๆก็มี แต่ยังโกลาหลอยู่ ต้องรอให้สงบก่อน

ที่มา www.matichon.co.th/news_detail.php

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น