วันอังคารที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2554

อยุธยา 2011 โกลาหล...จมบาดาล ฐานผลิตอุตสาหกรรมอ่วม 3 หมื่นล้าน !!

วิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้สาหัสอย่างยิ่งสำหรับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพราะเป็นเมืองที่รองรับมวลน้ำจากภาคเหนือทั้งหมด ที่สำคัญเป็นเมืองศูนย์กลางอุตสาห กรรม เมืองท่องเที่ยวมรดกโลก
น้ำได้เริ่มเข้าท่วมพระนครศรีอยุธยาตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมายังรักษาพื้นที่เมืองชั้นในไว้ได้ แต่ล่าสุดน้ำท่วมครบทั้ง 16 อำเภอแล้ว โดยสถานการณ์เริ่มวิกฤตเช้าวันที่ 4 ตุลาคม น้ำไหลเข้าท่วมวัดไชยวัฒนารามและชุมชนรอบข้าง

อีกเพียงชั่วข้ามคืนมวลน้ำก้อนใหญ่จากแม่น้ำ 4 สายหลักคือ แม่น้ำเจ้าพระยา-แม่น้ำลพบุรี-แม่น้ำน้อย-แม่น้ำป่าสัก ผนวกกับน้ำจากการพังของประตูระบายน้ำบางโฉมศรี ไหลเข้ามาสมทบอีก มวลน้ำจากทุกทิศทุกทางปิดล้อมเมืองอยุธยา

สถานการณ์เข้าสู่ "จุดวิกฤต" ในช่วงบ่ายวันที่ 5 ตุลาคม พื้นที่ใจกลางเมืองกรุงเก่าถูกมวลน้ำโจมตีทะลักเข้าท่วมในเวลาอันรวดเร็ว อีกทั้งโรงงานทั้ง 46 แห่งในนิคมอุตสาหกรรม "สหรัตนนคร" ที่อำเภอคลองหลวงจมบาดาลในชั่วพริบตา และน้ำยังจ่อจะทะลักเข้าท่วมนิคมอุตสาหกรรมอีก 5 แห่ง

นอกจากนี้ น้ำยังเอ่อล้นเข้าท่วมถนนสายเอเชีย รถยนต์สัญจรไม่ได้ การจราจรติดขัดยาว 40-50 กิโลเมตร การเดินทางและการขนส่งสู่ภาคเหนือกลายเป็นอัมพาต

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" ลงพื้นที่สำรวจพบว่า พื้นที่อุตสาหกรรมหลัก ๆ ใน จ.พระนครศรีอยุธยา ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน, บ้านหว้า (ไฮเทค), สหรัตนนคร และส่วนอุตสาหกรรมโรจนะ ในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน พื้นที่ 1,962 ไร่ มีโรงงานตั้งอยู่ 90 โรง คนงาน 60,000 คน มูลค่าการลงทุนรวม 60,000 ล้านบาท โรงงาน ส่วนใหญ่เป็นโรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

สวนอุตสาหกรรมโรจนะ พื้นที่ 3,675 ไร่ มีโรงงานตั้งอยู่ 198 โรง เป็นที่ตั้งของโรงงานชื่อดัง อาทิ ฮอนด้า, ฮิตาชิ, แคนนอน, นิคอน, พานาโซนิค ฯลฯ ล่าสุด (6 ต.ค.) หลายโรงงานหยุดเดินเครื่องแล้ว และประกาศให้มีการหยุดงานแล้ว 5 วัน เนื่องจากน้ำก้อนใหญ่จ่อจะทะลักเข้าท่วม

นางสาวลักขณา เมี้ยนกำเนิด ผู้อำนวยการนิคมอุตสาหกรรมบางปะอินกล่าวว่า โรงงานสามารถดำเนินการผลิตได้ปกติ แต่ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจได้เตรียมรับมือปริมาณน้ำก้อนใหญ่ที่ไหลลงมา และให้เตรียมอพยพย้ายสินค้า วัตถุดิบออกจากโรงงานเพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด

สำหรับสวนอุตสาหกรรมโรจนะ ขณะนี้โรงงานได้หยุดการผลิตทั้งหมด และเตรียมขนย้ายสินค้า วัตถุดิบออกนอกโรงงาน พร้อมอพยพคนงานออกหมดแล้ว ซึ่งการหยุดการผลิตของโรงงานในสวนอุตสาหกรรมโรจนะนี้ ทำให้บางโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอินที่เป็นผู้ผลิตส่งสินค้าให้กับโรงงานในสวนอุตสาหกรรมโรจนะต้องลดหรือหยุดผลิตตามไปด้วย

ส่วนนิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) ตั้งอยู่บริเวณถนนสายเอเชีย-นครสวรรค์ อำเภอบางปะอิน พื้นที่ 2,379 ไร่ มีโรงงานทั้งสิ้น 143 ราย แรงงาน 51,186 คน มูลค่าการลงทุน 65,312 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือวิทยาศาสตร์ อุตสาหกรรมยาง พลาสติก บริเวณรอบนิคมระดับน้ำขึ้นสูงต่อเนื่องและรวดเร็ว

สำหรับนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร น้ำเริ่มเข้าท่วมตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม ปริมาณน้ำท่วมสูง 2-3 เมตร โรงงานได้รับผลกระทบ 43 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 30,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นโรงงานของนักลงทุนญี่ปุ่น ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

ด้าน นายทศพล วังศิลาบัตร ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด เปิดเผยว่า การเดินเรือขนส่งสินค้าโดยเฉพาะปูนซีเมนต์ ข้าว และถ่านหินมาตามแม่น้ำป่าสักในเขต อ.นครหลวง ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เรือสินค้าต้องจอดหลบไม่กล้าเสี่ยงเพราะท้ายขบวนอาจกระแทกกับสะพานข้ามแม่น้ำ บางลำผ่านสะพานไม่ได้เพราะระดับน้ำสูง

น้ำท่วมเมืองกรุงเก่ายังส่งผลให้ย่านเศรษฐกิจการค้า สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญหยุดชะงักหมด เช่น ปางช้างอโยธยา โบราณสถานวัดเก่าแก่ ตลาดน้ำอโยธยา ตลาดหัวรอ ที่พักริมน้ำ เกสต์เฮาส์ ร้านอาหาร ฯลฯ การท่องเที่ยวซบเซาทั้งหมด

อุทกภัยครั้งนี้จึงสร้างความเสียหายให้กับภาคการผลิตและอุตสาหกรรมอย่างหนัก...!

น้ำถล่ม..."กรุงเก่า" ราบคาบ

วันที่ 6 ตุลาคมเสมือนเป็นวันโลกาวินาศสำหรับชาวอยุธยาโดยแท้ หลังจากฝนตกหนักทั้งคืนส่งผลให้แม่น้ำเจ้าพระยาไหลเอ่อเข้าท่วมทั้งจังหวัดอย่างไม่ปรานีในรอบหลายสิบปี

"ประชาชาติธุรกิจ" ลงสำรวจพื้นที่ผู้ประสบภัยหลายพื้นที่ พบว่าทั้งพื้นที่รอบเกาะเมืองและหลายอำเภอ น้ำท่วมสูงหนักถึง 3-4 เมตร เนื่องจากน้ำเอ่อท่วมอย่างรวดเร็ว

ชาวบ้านหลายคนเครียดเหนื่อยล้าและไม่สบาย เพราะน้ำที่ขังอยู่ในบ้านกลายเป็นน้ำเน่ามานานกว่า 1 เดือน และยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐเท่าที่ควร

ที่ ต.ตาลเอน อ.บางปะหัน และ ต.บ้านขล้อ อ.นครหลวง น้ำยังคงท่วมขังอย่างหนัก ประชาชนกว่า 1,000 ครอบครัวเริ่มขาดแคลนอาหารและน้ำดื่ม

หลายครอบครัวใน อ.นครหลวง อพยพออกจากบ้านมานอนกางเต็นท์อยู่ริมถนนใหญ่ เพราะที่นาหลายสิบไร่จมน้ำทั้งหมด บ้านกลายเป็นเรือนร้างลอยเท้งเต้งอยู่กลางน้ำ ที่น่าเศร้าใจคือบ้านของชาวบ้านหลายคนกลายเป็นจุดทิ้งขยะ กองโตลอยอยู่กลางน้ำ

ส่วนเขตเทศบาลเมืองอโยธยา โดยเฉพาะชุมชนตลาดน้ำอโยธยา แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังน้ำได้เอ่อล้นทะลักเข้าท่วมอย่างน่ากลัว ชาวบ้านได้รับความเสียหายอย่างหนัก ซ้ำร้ายการจราจรยังติดขัดจนเทศบาลต้องประกาศเตือนประชาชนให้ ขนย้ายทรัพย์สินขึ้นสูงอย่างจ้าละหวั่น สิ่งที่ชาวอโยธยาเดือดร้อนหนักตอนนี้คือ ไม่มีห้องน้ำใช้ แถมน้ำประปายังถูกตัดขาด สิ่งที่ต้องการมากที่สุดคือ เรือ และสุขาเคลื่อนที่

ส่วนในตัวเมืองไม่ต้องพูดถึง น้ำท่วมหนักสุดในรอบหลายสิบปี น้ำท่วม 1-2 เมตร แต่ที่ได้รับผลกระทบในวงกว้างคือ น้ำเอ่อท่วมถนนสายเอเชียช่วงบางปะหัน-อ่างทอง ทำให้รถติดยาวเหยียดหลายกิโลเมตรทั้งขาเข้าและออก การจราจรเป็นอัมพาตยาวกว่า 30-40 กิโลเมตร

"วิทยา ผิวผ่อง" ผู้ว่าฯเมืองกรุงเก่าประเมินว่า น้ำน่าจะ ท่วมขังนานในอยุธยาอีกกว่า 1 สัปดาห์ เพราะมวลน้ำหลัก จากแม่น้ำลพบุรีจะไหลเข้ามาสบทบกับแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งอาจจะทำให้น้ำเพิ่มระดับสูงขึ้นอีก 50 เซนติเมตร


ที่มา www.prachachat.net/news_detail.php

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น