วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2554

สื่อนอกตีข่าวน้ำท่วมหนักในไทยกระเทือนท่องเที่ยว-โบราณสถานอยุธยาจมน้ำ

ได้นำเสนอรายงานสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ของประเทศไทยกับผลกระทบด้านการท่องเที่ยวโดยเว็บไซด์ดังกล่าวรายงานว่าสถานการณ์มวลน้ำระลอกใหญ่ที่ส่งผลต่อโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนมรดกโลกอย่างวัดไชยวัฒนาราม จ.พระนครศรีอยุธยาได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมสูง

นอกจากนี้เว็บไซด์ดังกล่าวอ้างรายงานจากหน่วยงานสังกัดกรุงเทพมหานครว่าสถานการณ์น้ำท่วมในกทม.มีแนวโน้มหนักขึ้นใน2สัปดาห์ข้างหน้าโดยคาดการณ์สถานการณ์ขณะนี้ยังไม่สามารถยืนยันได้แน่นอน

อย่างไรก็ตามเว็บไซด์ซีเอ็นเอ็นโกระบุว่าย่านที่มีนักท่องเที่ยวมากในกรุงเทพฯอาทิ ถนนสุขุมวิท ข้าวสาร และสีลม ยังไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม แม้ว่าจะมีท่าน้ำ ร้านอาหาร และบ้านพักที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมแล้ว

ซีเอ็นเอ็นโกระบุว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยแจ้งถึงจุดท่องเที่ยวในเมืองใหญ่ๆ อย่างเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง สุโขทัย กาญจนบุรี พัทยา เกาะช้าง ระยอง ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และเกาะสมุย ทั้งหมดยังคงมีสภาพอากาศปกติ รวมทั้งท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและยังเปิดดำเนินการปกติ ยกเว้นเพียงแต่โบราณสถานใน จ.พระนครศรีอยุธยาที่ถูกน้ำท่วมรุนแรง สถานที่ท่องเที่ยวถูกปิดชั่วคราว รวมทั้งรถไฟที่ให้บริการจากกรุงเทพฯไปสายเหนือที่ผ่านอยุธยาต้องหยุดชะงักลง โดยการรถไฟยินดีจ่ายเงินค่าตั๋วคืนแก่ผู้โดยสารที่ต้องการยกเลิกการเดินทาง ทั้งนี้การเดินทางระยะยาวด้วยรถประจำทางหรือรถบัสยังคงดำเนินการได้ แต่ถนนสายหลักถูกตัดขาดจากน้ำท่วมในพื้นที่ต้องเปลี่ยนเส้นทาง

ทั้งนี้ซีเอ็นเอ็นโกได้ถ่ายทอดภาพน้ำท่วมในหลายจุดของกรุงเทพฯโดยบางจุดรายงานว่าประสบปัญหาน้ำท่วมขังมานานร่วมเดือน


ที่มา www.prachachat.net/news_detail.php















ที่มา



ต้องการยกเลิกรับข่าวสาร คลิกที่นี่

วัดไชยวัฒนาราม...

ชีวิตที่เปลี่ยนไปทำให้เราลืมคำว่า ศาลาท่าน้ำ ตลาดน้ำ เรือนแพ และบ้านทรงใต้ถุนสูง และลืมแม้กระทั่งคำว่า ก๋วยเตี๋ยวเรือ ทั้งที่กินกันอยู่ทุกวัน

น้ำท่วมไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับประเทศนี้ ที่ชุมชนบ้านเรือนเกือบทุกแห่งตั้งอยู่ใกล้น้ำ คำว่า บางก็บอกอยู่แล้วว่า คือสถานที่ที่อยู่ริมแม่น้ำ หรืออยู่บนเส้นทางของลำน้ำลำคลองสายต่างๆ เช่นว่า บางไทร บางบาล บางปะหัน บางโฉมศรี ฯลฯ น้ำท่วมมาแต่ครั้งปู่ย่าตายายแล้ว

ประวัติของอยุธยากล่าวกันว่า ถูกออกแบบมาให้เป็นเมืองน้ำ เพราะตั้งอยู่ในที่ราบลุ่ม เป็นศูนย์กลางของเมือง อยู่ในส่วนที่เป็นเกาะล้อมรอบด้วยแม่น้ำสามสาย คือ เจ้าพระยา ป่าสัก และลพบุรี จึงมีการขุดคูคลองให้เชื่อมต่อถึงกันโดยตลอดมาทุกยุค

ด้วยหน้าน้ำ น้ำมากน้ำหลาก คูคลองจำนวนมากเหล่านี้ก็จะได้เป็นที่ระบายน้ำออกไปจากเมืองได้อย่างรวดเร็ว และที่สำคัญก็คือ เอาไว้เป็นกำแพงแนวป้องกันน้ำมิให้พุ่งตรงเข้าไปทำลายเมืองและบ้านเรือน

ที่อยุธยา (เมือง และจังหวัดอื่นๆ) ต้องจมอยู่ใต้น้ำและต้องเสียหายหนักก็เพราะคนนั่นแหละที่เปลี่ยนแปลงบ้านเรือนและชุมชนของตน ธรรมชาติไม่ได้เปลี่ยน น้ำถึงเวลาก็มา การฝ่าฝืนและต่อสู้กับธรรมชาติจึงต้องทุกข์ยากลำบากอย่างที่เห็นกันอยู่
โบราณสถานวัดไชยวัฒนารามของอยุธยาที่ถูกน้ำท่วมคราวนี้ มีประวัติความเป็นมาว่า สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2173 สมัยพระเจ้าปราสาททอง กรุงศรีอยุธยา วัดนี้แปลกแตกต่างไปจากวัดอื่นๆ ก็เพราะพระเจ้าปราสาททองโปรดให้ช่างไทยออกไปจำลองแบบแผนผังนครวัดของเขมรมาสร้างขึ้นในกรุงศรีอยุธยาโดยเฉพาะ

ในแง่สถาปัตยกรรมวัดไชยวัฒนารามนับเป็นวัดที่งดงามและสวยสง่ายิ่ง

วัดไชยวัฒนารามเป็นวัดที่ประกอบด้วยทั้งพระปรางค์ ปราสาทใหญ่น้อย เมรุทิศ เมรุราย มณฑป ลาน พระระเบียงแบบศิลปะเขมร และมีพระพุทธรูปพระอุโบสถและพระเจดีย์ที่เป็นศิลปะแบบของไทย

ปราสาทใหญ่หรือเมรุทิศมีด้วยกันถึง 7 ชั้น เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปใหญ่ ทั้งในปางยืน ปางลีลา และปางมารวิชัยที่งดงามสูงสง่าและมีมุมซุ้มประตูคูหาห้องช่องทางเดินอยู่ภายในกำแพงแก้วอันกว้างขวางและยิ่งใหญ่โอบล้อมไว้โดยรอบ

ประวัติศาสตร์กล่าวว่า วัดไชยวัฒนารามนั้น รจนาขึ้นตามคติของการจำลองจักรวาลในพุทธศาสนาอันไม่เคยปรากฏมาก่อนในกรุงศรีอยุธยา

ยิ่งในแง่ประวัติศาสตร์แล้ว วัดไชยวัฒนารามแห่งนี้ก็มีเรื่องราวอยู่มาก

เรื่องหนึ่งที่น่าจดจำก็คือในครั้งที่พม่ายกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยาครั้งสุดท้าย ที่วัดแห่งนี้คือสนามรบอันดุเดือด

ไทยใช้วัดไชยวัฒนารามเป็นค่ายรบแห่งหนึ่ง ซึ่งทั้งสองฝ่ายไทยและพม่าต่างสู้รบกันชนิดข้ามวันข้ามคืนอยู่บนพื้นดินที่เจิ่งไปด้วยน้ำ เพราะวัดตั้งอยู่ริมน้ำ เมื่อไทยเสียค่ายที่วัดนี้ก็เสียกรุงศรีอยุธยาในเวลาต่อมา
วัดไชยวัฒนารามกลายเป็นวัดร้างอยู่กว่า 200 ปีจนกระทั่งได้รับการบูรณะครั้งใหญ่เมื่อไม่นานมานี้

อนึ่ง วัดนี้ที่ได้ชื่อว่า วัดไชยวัฒนาราม ก็เพราะในรัชกาลพระเจ้าปราสาททองนี้ ทำสงครามมีชัยตีได้เมืองเขมรที่แข็งข้อออกไปเป็นอิสระ เอากลับคืนมาได้ การสร้างวัดไชยวัฒนารามนี้ขึ้นจึงเป็นการเสริมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าปราสาททองในอีกทางหนึ่งด้วย

ที่มา www.komchadluek.net/detail/20111013/111639/"วัดไชยวัฒนาราม"....html

"อยุธยา" เมืองใหม่ บนที่ราบลุ่มต่ำรับน้ำท่วม

เมื่อนั่งรถออกจากกรุงเทพฯไปตามถนนพหลโยธิน ครั้นเข้าเขต อ. วังน้อย จะมองเห็นยอดเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคลอยู่ลิบๆ
โดยเบื้องหน้ามีต้นข้าวตั้งท้องอ้วนท้วนเต็มที่ในเดือนสิบเอ็ดน้ำนอง เดือนสิบสองน้ำทรง
พันธุ์ข้าวที่ปลูกบนพื้นที่นี้ ถ้ามีน้ำนองหลากท่วมต้นข้าวมิดใบวันนี้ พรุ่งนี้ต้นข้าวจะทะลึ่งชูใบขึ้นเหนือน้ำได้ เพราะเป็นต้นข้าวพันธุ์หนีน้ำท่วมที่ท่วมทุกปีไม่มีเว้น
ข้าวหนีน้ำ เป็นข้าวพันธุ์พิเศษ แข็งแรง เมื่อน้ำท่วมมิดต้นใบก็โตหนีน้ำท่วมได้ มีตัวอย่างลำต้นและใบพร้อมรากยาว วัดทั้งหมดได้มากกว่า 1 วา หรือราว 2 เมตร สูงกว่าคนปกติ
แต่เดิมพื้นที่ทุ่งนาของ อ. วังน้อย, อ. อุทัย, ต่อเนื่อง อ. เมือง จ. พระนครศรีอยุธยา เป็น"พื้นที่สีเขียว" ต้องสงวนไว้สำหรับการเกษตรกรรมและรับน้ำธรรมชาติ
ตั้งแต่ราว พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา รัฐบาลสมัยนั้นประกาศยกเลิกพื้นที่สีเขียว แล้วกำหนดเป็นเขตส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรม ซึ่งเท่ากับรุกเข้าไปยึดพื้นที่รับน้ำธรรมชาติให้เหลือน้อยลงหรือหมดไป
นับแต่นั้นโรงงานอุตสาหกรรมก็มีขึ้นเต็มทุ่งนา รวมทั้งรุกล้ำแหล่งประวัติศาสตร์โบราณคดี แล้วตามมาด้วยชุมชนเมืองใหม่ของคนหลากหลาย ทั้งคนทำมาหากินค้าขายและด้วยการรับจ้างทั่วไปกับคนใช้แรงงานในโรงงาน
มีผู้คัดค้านรัฐบาลว่าบริเวณที่ราบลุ่มกว้างใหญ่นี้ เป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์ที่สุด เพราะเมื่อน้ำหลากจะพัดพาตะกอนโคลนตมมาถมทับทุกปี เท่ากับมีปุ๋ยวิเศษมาโดยธรรมชาติ ใช้เพาะปลูกหล่อเลี้ยงกรุงศรีอยุธยามามากกว่า 500 ปีมาแล้ว จึงเหมาะสงวนไว้เป็นพื้นที่สีเขียวทำเกษตรกรรมเข้ากับอยุธยาเมืองประวัติศาสตร์
นอกจากนั้นบริเวณนี้เป็นพื้นที่ราบลุ่มมีน้ำท่วมทุกปี จึงไม่เหมาะเป็นเขตอุตสาหกรรมที่ต้องมีชุมชนหนาแน่นโดยรอบ
รัฐบาลโลภมาก มีผลประโยชน์ทับซ้อนของสังคมไร้ระเบียบ ไม่ฟังเสียงทักท้วง
นับแต่นั้นโรงงานและชุมชนก็เกิดขึ้นอย่างรีบร้อนและรวบรัด โดยมิได้วางแผนรับมือปัญหาน้ำหลาก จึงสร้างทุกอย่างลงที่ลุ่มต่ำขวางทางไหลหลากของน้ำ
ผลคือผู้คนเดือดร้อนแสนสาหัสเห็นอยู่แล้ว
แนวทางแก้ไขให้บรรเทาความเดือดร้อนในอนาคตมีไม่มากนัก
แต่ทางหนึ่งมีผู้รู้แนะนำว่าต้องมีพื้นที่รับน้ำแล้วสร้างทางน้ำไหลให้เบี่ยงเบนออกจากชุมชนไปลงแม่น้ำใหญ่ไหลออกทะเล
ส่วนทางอื่นๆก็มี แต่ยังโกลาหลอยู่ ต้องรอให้สงบก่อน

ที่มา www.matichon.co.th/news_detail.php

กรุงเก่ายังวิปโยคหนัก ชาวบ้านขนของหนีน้ำไม่หยุด

 ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยาว่า วันนี้ (11 ต.ค.) ชาวบ้านในชุมชนโรงเหล้าเก่า หมู่ 8 ต.ประตูชัย อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ยังคงเร่งขนย้ายข้าวของหนีน้ำกันอย่างต่อเนื่อง เพราะน้ำท่วมชั้นล่างจนมิดแล้วสำหรับบ้านสองชั้น ส่วนบ้านชั้นเดียวได้อพยพไปอยู่ที่อื่นก่อนแล้ว

นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านที่ติดอยู่ในบ้านซึ่งไม่ยอมออกไปไหน เนื่องจากห่วงข้าวของตัวเอง ขณะที่เสบียงอาหารที่เก็บไว้ก็ร่อยหลอลง ไม่มีรถ และเรือออกไปหาซื้อของกินได้ ถุงยังชีพที่คนนำมาบริจาคก็เข้ามาไม่ถึง เพราะไม่มีรถหรือเรือเข้ามาถึงที่ได้ ชาวบ้านต้องอดมื้อกินมื้ออย่างประหยัด

นอกจากนี้ ผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่เดินลุยน้ำทั้งวันเริ่มป่วยเป็นโรคน้ำกัดเท้า โรคเครียด แล้วสำหรับคนที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม บริษัท ห้างร้านต่างตกงานกันจำนวนมาก บางคนไม่มีเงินเก็บก็ไม่สามารถไปเช่าบ้านที่ใหม่ได้ และยังไม่รู้ชะตากรรมว่าโรงงานจะจ่ายค่าชดเชยให้หรือไม่ เพราะเจ้าของโรงงานก็ถูกน้ำท่วมขาดทุนเหมือนกัน

สำหรับศูนย์พักพิงชั่วคราว ศูนย์ราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชาวบ้านที่ย้ายมาอยู่นั้นชาวบ้าน บอกว่า หาที่เข้าห้องน้ำห้องท่าลำบาก เพราะน้ำไม่ไหล แล้วต้องนอนตากยุงเพราะไม่มีเงินไปซื้อมุ้งมากางนอน

ผู้ว่าฯ ประสาน ตร.ดูแลทรัพย์สิน ปชช.

ขณะที่ทางด้าน พล.ท.อุดมเดช สีตบุตร แม่ทัพภาคที่ 1 พร้อมด้วยนายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ร่วมประชุมหารือสรุปปัญหาน้ำท่วม รวมถึงมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยากล่าวว่า สิ่งที่ทางจังหวัดต้องเร่งดำเนินการ คือ ค้นหาผู้ที่ยังติดค้างในพื้นที่น้ำท่วม โดยเฉพาะเกาะเมือง และตั้งศูนย์ประสานงานรับบริจาคและประกอบอาหาร 6 จุด โดยให้นายอำเภอรับผิดชอบจัดซื้ออาหารสดมาประกอบอาหารแก่ประชาชน และเป็นศูนย์รับบริจาคสิ่งของในจุดต่างๆ

ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยังได้เร่งประสานตำรวจภูธรภาค 1 จัดกำลังดูแลทรัพย์สินประชาชน โดยได้รับแจ้งว่าบ้านเรือนประชาชนถูกงัด รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ถูกขโมยนับสิบคัน

"สมเด็จพระเทพฯ" จะเสด็จฯ มจร.
ทรงเยี่ยมผู้ประสบอุทกภัย

นายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยด้วยว่า ในช่วงบ่ายวันนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมชาว จ.พระนครศรีอยุธยา ที่อพยพไปอาศัยอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ณ อ.วังน้อย เนื่องจากบริเวณศาลากลางจังหวัดมีผู้อพยพอยู่จำนวนมาก และเกรงว่าน้ำกำลังจะท่วมและไม่ปลอดภัย จึงทรงมีพระเมตตาให้ช่วยเหลือเรื่องที่พักพิงแก่ผู้ประสบอุทกภัย โดยจัดที่พักและอาหารให้ที่อาคาร 6 ชั้น ใน มจร. พร้อมจัดรถบริการรับ-ส่ง

ส่วนเวลา 10.30 น. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร จะเสด็จเยี่ยมครัวสายใยรักแห่งครอบครัว ที่มาตั้งให้บริการประชาชนอยู่ที่ศาลากลางจังหวัด พร้อมพระราชทานน้ำมันเชื้อเพลิงให้แก่จังหวัดจำนวน 30,000 ลิตร

ขณะที่การประชุมของจังหวัดเพื่อประเมินจุดที่จะต้องอพยพผู้ที่ติดอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม คาดว่าจะมีอยู่อีกประมาณ 1,500 คน ในพื้นที่เกาะเมือง และรอบเกาะเมือง โดยจะพยายามเข้าไปช่วยเหลือให้ครบทุกพื้นที่

ทางด้าน ดร.ทวี นริลศิริกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะนครศรีอยุธยา ยืนยันว่า นิคมอุตสาหกรรมไฮเทคยังไม่มีพนังกั้นแตก น้ำสูงขึ้น แต่ยังไม่ถึงขอบพนังกั้นน้ำ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เสริมพนังกั้นตลอดเวลา โดยกายภาพที่ตั้งก็น่าจะสามารถป้องกันได้ โดยที่ไฮเทคจะเป็นการรับน้ำจากเจ้าพระยา ซึ่งระดับน้ำเพิ่มเล็กน้อยและทรงตัว แต่ก็ไม่ประมาทได้มีการจับตาตลอดเวลา ส่วนที่โรจนะท่วมในเฟส 1 ทั้งหมด ส่วนเฟส 2-3 พยายามป้องกันอยู่ ขณะนี้มีการสูบน้ำออกตลอด

สำหรับนิคมในบางปะอิน ได้ดำเนินการคล้ายๆ ไฮเทค ทั้งนี้ ยอมรับว่ากังวลเรื่องน้ำก้อนใหญ่ที่กำลังจะมาถึง เนื่องจากคันกั้นน้ำทำสูง 6 เมตร ช่วงนี้เพื่อความปลอดภัยของโรงงานต่างๆ ได้แจ้งให้บริษัทต่างๆ ได้หยุดกิจการชั่วคราว เป็นช่วงๆ ส่วนที่น้ำเข้าถ้าสามารถสูบน้ำได้เร็ว น้ำทรงตัว ก็คงฟื้นฟูได้เร็ว ส่วนพื้นที่ที่น้ำไม่เข้าก็เพียงหยุดงานและสามารถเปิดต่อได้เลย

มธ.รังสิตกันพื้นที่ให้แรงงานต่างด้าวจากอุตฯโรจนะ

ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวผู้ประสบภัยน้ำท่วม ที่อาคารยิมเนเซียม 2 มธ.ศูนย์รังสิต ตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงช่วงเที่ยงได้มีประชาชนในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ทยอยเดินทางเข้ารับสิ่งของเครื่องใช้ ยารักษาโรค โดยนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์แห่งนี้สามารถรับผู้อพยพ ได้ประมาณ 1,300 คน ซึ่งขณะนี้มีผู้เข้ามาพัก ประมาณ 800 คน และยังรับได้อีก 500 คน

อย่างไรก็ตาม ทางมหาวิทยาลัยจะพยายามจัดสรรพื้นที่ เพื่อรองรับผู้อพยพเพิ่มได้อีก อาทิ อาคารกีฬาสเตเดี้ยม ซึ่งรองรับประชาชนได้ 400 คน และในนี้มีการจำกัดพื้นที่ให้แรงงานชาวกัมพูชา ที่มาจากอุตสาหกรรมโรจนะมาแล้ว 200 คน

รถทีมดาราช่วยน้ำท่วมอยุธยา
ถูกน้ำซัดจม แต่ทุกคนปลอดภัย

ข่าวแจ้งว่า เมื่อเวลาประมาณ 12.00 น.รถออฟโรดที่ขนทีมดารา นักแสดง และบริษัทเวิร์คพอยท์ รวมทั้งสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งได้เกิดอุบัติเหตุขณะลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อนำสิ่งของไปแจกให้แก่ประชาชน โดยรถคันดังกล่าวถูกน้ำซัดจมลงช่วงบริเวณตำบลบางระกำ ทั้งนี้ ภายในรถมีโน๊ต เชิญยิ้ม, หยอง ลูกหยี, บ๊อบ ณัฐธีร์, ริวจิตสัมผัส และสื่อบางส่วน เคราะห์ดีที่ชาวบ้านช่วยเหลือได้ทันและทุกคนสวมเสื้อชูชีพ

เร่งสำรวจคนติดเกาะเมือง
ป้องกันวัดพุทไธศวรรย์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายณรงค์ อ่อนสะอาด รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ประชุมหารือเพื่อมอบหมายงานให้เจ้าหน้าที่ทหารบก ทหารเรือ กรมประมง สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในการเร่งสำรวจผู้ที่ยังติดอยู่ในพื้นที่ต่างๆ เพื่อเข้าไปให้การช่วยเหลือทั้งอาหารและเครื่องดื่ม

รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ภารกิจในวันนี้ทหารเรือจะไปทำสะพานที่อนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพื่อใช้เป็นทางเดิน ส่วนที่วัดพุทไธศวรรย์ยังคงรักษาวัดได้ จึงประสานขอน้ำมันเพื่อใช้ในการสูบน้ำออกจากแนวคันกั้นน้ำ

อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านในเกาะเมือง อาทิ ต.คลองสระบัว ต.สวนพริก ต.ลุมพลี ร้องเรียนความช่วยเหลือเข้าไม่ถึง จึงอยากให้หน่วยงานราชการช่วยดูแลบ้าง


สมเด็จพระเทพฯ เสด็จฯเยี่ยมประชาชนที่ประสบอุทกภัยที่ จ.อยุธยา

     นายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า วันนี้(11 ต.ค.) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมชาว จ.พระนครศรีอยุธยา ที่อพยพไปอาศัยอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) อ.วังน้อย เนื่องจากบริเวณศาลากลางจังหวัดมีผู้อพยพอยู่จำนวนมาก และเกรงว่าน้ำกำลังจะท่วมและไม่ปลอดภัย จึงทรงมีพระเมตตาให้ช่วยเหลือเรื่องที่พักพิงแก่ผู้ประสบอุทกภัย โดยจัดที่พักและอาหารให้ที่อาคาร 6 ชั้น ใน มจร. พร้อมจัดรถบริการรับ-ส่ง
ส่วนเวลา 10.30 น. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร จะเสด็จเยี่ยมครัวสายใยรักแห่งครอบครัว ที่มาตั้งให้บริการประชาชนอยู่ที่ศาลากลางจังหวัด พร้อมพระราชทานน้ำมันเชื้อเพลิงให้แก่จังหวัดจำนวน 30,000 ลิตร
ขณะที่การประชุมของจังหวัดเพื่อประเมินจุดที่จะต้องอพยพผู้ที่ติดอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม คาดว่าจะมีอยู่อีกประมาณ 1,500 คน ในพื้นที่เกาะเมือง และรอบเกาะเมือง โดยจะพยายามเข้าไปช่วยเหลือให้ครบถ้วน

ที่มา www.siamrath.co.th/web

ประมวลภาพ..."โบราณสถาน วัดวาอาราม" จ.อยุธยาที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากน้ำท่วม!!

สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยายังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากชาวบ้านที่เดือดร้อนอย่างหนักที่ยังติดค้างอยู่ภายในบ้าน เพราะระบบไฟฟ้า ระบบการประปา การสื่อสารถูกตัดขาด อาหารและเครื่องดื่มที่เก็บไว้เริ่มหมดหาซื้อไม่ได้และยากต่อการเดินทางมารับของแจกที่ศาลากลางจังหวัด
ยิ่งน้ำท่วมนานวันปัญหาก็เริ่มทวีคูณมากขึ้นเรื่อย ๆ วัดหลาย ๆ แห่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาก็ได้รับความเสียหายอย่างมากเช่นกัน "สยามรัฐออนไลน์"ได้ประมวลภาพเหตุการณ์น้ำท่วม วัดวาอาราม ต่าง ๆ ที่ได้รับความเสียหายมาให้ดู....


ที่มา www.siamrath.co.th/web

เร่งสูบน้ำออกจากวัดไชยวัฒนาราม จ.อยุธยา

นางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยถึง สถานการณ์น้ำที่ทะลักท่วมวัดไชยวัฒนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยาว่า ภายในเวลา 18.00 น. วันนี้ จะเร่งสูบน้ำออกจากวัดไชยวัฒนารามให้แล้วเสร็จ หรือให้อยู่ระดับที่น่าพอใจที่สุด และในช่วงบ่ายวันนี้ เวลา 14.00น. จะเดินทางลงพื้นที่ไปตรวจสอบอย่างเร่งด่วน ณ จุดน้ำท่วมและจุดที่เกิดความเสียหายเพื่อดำเนินการแก้ไขช่วยเหลือประชาชนและกู้คืนโบราณสถานที่เกิดความเสียหาย รวมทั้งเรียกประชุมมอบนโยบายให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดูแลโบราณสถานที่มีอยู่ทั่วประเทศอย่างดีที่สุด
ด้านนายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า แนวทางในการกู้โบราณสถานวัดไชยวัฒนาราม จะใช้คันดินทำเป็นแนวป้องกันน้ำท่วมตลอดแนวถนนบ้านป้อม คลองตะเคียน หลังจากนั้นจะใช้วิธีสูบน้ำออก คาดว่าภายในเวลา 18.00 น.โบราณสถานวัดไชยวัฒนาราม น่าจะกลับสู่สภาพปกติ

ที่มา www.thanonline.com/index.php