วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554

โวย เดอะไทม์ เวิลด์เฮอริเทจ สะกดแหล่งมรดกโลกเพี้ยน

Pic_195346
อดีตอธิบดีกรมศิลป์ โวยหนังสือ "เดอะไทม์ เวิลด์เฮอริเทจ" สะกดคำแหล่งมรดกโลก "กำแพงเพชร-ศรีสัชนาลัย" เพี้ยน หวั่นคนทั่วโลกเข้าใจผิด จี้ วธ.ร่อนหนังสือแก้ไขเร่งด่วน...

เมื่อวันที่ 19 ส.ค. ที่ห้องประชุมดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร จัดงานสัมมนามรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งราชอาณาจักรไทย เนื่องในโอกาสครบ 100 ปี กรมศิลปากร และ 20 ปี มรดกโลกแห่งราชอาณาจักรไทย โดยนายเดโช สวนานนท์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ได้พบเรื่องที่น่าตกใจ เมื่อสมาคมสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งของฝรั่งเศสได้ส่งหนังสือ "The Times UNESCO WORLD HERITAGE" เล่มที่ 8 หน้าปกรูปนครวัด ประเทศกัมพูชา ตีพิมพ์เมื่อปี 2553 ในหนังสือเล่มนี้ว่าด้วยเรื่องมรดกโลกทางวัฒนธรรมทั่วโลก มีรูปและคำอธิบายแต่ละเรื่องที่ปรากฏอยู่กว่า 890 แห่ง รวมทั้งอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและกำแพงเพชรของประเทศไทยด้วย

ทั้งนี้ เมื่อเปิดอ่านดูพบว่า คำบรรยายภาษาอังกฤษฉบับนี้ได้พิมพ์ชื่อเมืองผิดอยู่ 2 แห่ง คือศรีสัชนาลัย สะกดว่า Si Satchaum และกำแพงเพชร สะกดว่า Kamohena Pet ซึ่งเป็นการสะกดคำภาษาอังกฤษที่ผิด ทางนิตยสารเดอะไทม์เป็นผู้จัดพิมพ์ และอ้างว่าได้รับข้อมูลโดยตรงจากยูเนสโก และเวิลด์เฮอริเทจเซนเตอร์ คำที่สะกดผิดนั้น คือ คำว่า "เพชร" เขียนในภาษาไทยมีความหมายในทางที่ดี มีค่ามาก แต่คำว่า "Pet" ภาษาอังกฤษแปลว่าสัตว์เลี้ยง เป็นคนละความหมาย ส่วนคำสะกดว่า "chaum" นั้น อาจทำให้เกิดความสับสนกับคำว่าศรีชุมซึ่งเป็นวัดแห่งหนึ่ง ซึ่งตนเข้าใจว่าฝรั่งอาจไม่คุ้นกับเสียงไทยจึงสะกดคำผิด และถือเป็นเรื่องใหญ่หากไม่มีการแก้ไขเพราะหนังสือเล่มดังกล่าวจะถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก ดังนั้นเห็นว่าหน่วยงานของไทยที่เกี่ยวข้องทางมรดกโลกทางวัฒนธรรมอย่างกระทรวงวัฒนธรรมหรือกรมศิลปากร ควรทำหนังสือแจ้งไปยังเดอะไทม์ ยูเนสโก เวิลด์เฮอริเทจ ให้แก้ไขคำภาษาอังกฤษ 2 คำให้ถูกต้อง โดยคำ "ศรีสัชนาลัย" ภาษาอังกฤษที่ถูกควรสะกด "Si Satchanaiai" และคำว่า "กำแพงเพชร" ควรสะกดคำติดกัน "Kampangpet"

"จากประสบการณ์ผมไม่เชื่อว่ายูเนสโกจะสะกดคำผิด แต่เป็นไปได้ว่าคนที่พิมพ์ต่อๆ กันไม่คุ้นคำและเสียงของภาษาไทย เรื่องอย่างนี้หนังสือฝรั่งอีกหลายเล่มยังเกิดความผิดพลาด ทำให้คนอ่านแล้วไม่รู้เรื่องว่าชื่อเมืองอะไร ดังนั้นแล้ว เราเป็นเจ้าของบ้านเจ้าของเรื่องอยากให้คนอื่นเขาอ่านถูกต้อง จึงเห็นว่าหน่วยงานของไทยที่เกี่ยวข้องควรแจ้งไปยังเดอะไทม์ ขอให้ช่วยแก้คำสะกดผิดให้ถูกต้อง โดยการแทรกคำถูกลงไปในหนังสือเล่มดังกล่าว ผู้อ่านจะได้ไม่เกิดความสับสนในการใช้คำ และถ้าให้ดีควรมีการสะกดคำเหมือนที่ดิกชันนารีทั่วไปมี เพราะไม่อย่างนั้นแล้วต่อไปจะแปลกันไม่รู้เรื่องว่ามีความหมายอย่างไร ทั้งจะไม่เห็นความสำคัญ แม้คำว่าเพชรที่เขียนในภาษาไทยมีความหมาย แต่เพชรภาษาอังกฤษตรงนี้เป็นสัตว์เลี้ยง เป็นคนละความหมาย" นายเดโช กล่าว.
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๔

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น