วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เลื่อนดัน ภูมิทัศน์ริมเจ้าพระยา ขึ้นมรดกโลก

ป่วนเลื่อนรับฟังความคิดเห็น "ภูมิทัศน์ริมเจ้าพระยา" เป็น "มรดกโลก" อย่างไม่มีกำหนด กรมศิลป์แจงการขึ้นทะเบียนไม่กระทบต่อวิถีชีวิตประชาชน...เมื่อวันที่ 25 ส.ค. นางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า จากการที่กรมศิลปากร จะเปิดรับฟังความคิดจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและได้รับกระทบต่อการเสนอขึ้นทะเบียนภูมิทัศน์วัฒนธรรมแห่งแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นเป็นมรดกโลก และสถาปัตยกรรมใน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ต่อองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ในวันที่ 26 ส.ค.นั้น ตนเห็นว่า ควรจะเลื่อนออกไปก่อน เนื่องจากกรมศิลปากร จะดำเนินการให้ความรู้ประชาชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาเกี่ยวกับผลกระทบ และข้อมูลในเชิงลึกเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนก่อนที่เปิดรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากมีบทเรียนจากเหตุการณ์พระปฐมเจดีย์ พบว่า ประชาชนยังขาดข้อมูลและเข้าใจคลาดเคลื่อนจึงคัดค้านการขึ้นทะเบียนมรดกโลก ด้านแหล่งข่าวระดับสูงกรมศิลปากร กล่าวว่า กรมศิลปากร จะต้องทำการเลื่อนการรับฟังความคิดเห็นประชาชนออกไปก่อนอย่างไม่มีกำหนด และอยากทำความเข้าใจต่อประชาชนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาว่า การขอขึ้นทะเบียนภูมิทัศน์วัฒนธรรมแห่งแม่น้ำเจ้าพระยามรดกโลกต่อยูเนสโก ตั้งแต่บริเวณสะพานสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า หรือสะพานพุทธ จนถึงบริเวณ สะพานกรุงธน หรือสะพานซังฮี้ จะไม่กระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน ซึ่งประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เพียงแต่จะมีการปรับภูมิทัศน์บางส่วน เช่น การเก็บสายไฟฟ้าที่รกรุงรัง การรื้อถอนป้ายโฆษณาที่บังหน้าวัด หรือภูมิทัศน์สำคัญ เป็นต้น ส่วนการที่ประชาชนจะรื้อถอนหรือต่อเติมอาคารบ้านเรือนในพื้นที่ที่ได้ขึ้น ทะเบียน ก็สามารถทำได้ เพียงแต่จะต้องขออนุญาตจากเจ้าของพื้นที่ คือ กรุงเทพมหานคร "อยากทำความเข้าใจต่อประชาชนว่า การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยเฉพาะภูมิทัศน์วัฒนธรรมแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเนื้อหาที่นำเสนอต่อยูเนสโก จะมีเรื่องวิถีชีวิตริมแม่น้ำเจ้าพระยาเกี่ยวข้องไปด้วย ดังนั้น วิถีชีวิตของประชาชนริมแม่น้ำก็ยังคงดำเนินชีวิตได้ตามปกติ จึงไม่อยากให้ประชาชนกังวลไปก่อน แต่ทั้งนี้ หากกรมศิลปากร เปิดรับฟังความคิดเห็น ก็สามารถแสดงความคิดเห็นมาได้ กรมศิลปากร พร้อมรับฟังและจะให้คำแนะนำความรู้ต่างๆที่ประชาชนยังไม่ทราบด้วย" แหล่งข่าวระดับสูงกรมศิลปากร กล่าวทั้งนี้ ในหนังสือมรดกโลกทางวัฒนธรรมในประเทศไทย จัดพิมพ์เนื่องในโอกาส 100 ปี แห่งการสถาปนากรมศิลปากรและครบรอบ 20 ปี การประกาศขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมในประเทศไทย โดยสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร ระบุชัดเจนว่า เปิดเผยว่า หลังจากที่ไทยได้ลงนามสัตยาบันเป็นรัฐภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครอง มรดกโลก เมื่อปี 2530 และได้มีการสรรหาแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าความสำคัญอันโดดเด่น ระดับสากล เพื่อเสนอเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม โดยได้รับการพิจารณา 3 แหล่ง ได้แก่ 1. เมืองเก่าสุโขทัยและเมืองที่เกี่ยวข้อง 2. นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และ 3. แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง โดยในปี 2554 นี้ กรมศิลปากรมีรายการแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมในไทยที่จะนำเสนอเข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นของแหล่งมรดกโลก (Tentative List) ทั้งสิ้น 11 แหล่ง ดังนี้ 1. ภูมิทัศน์วัฒนธรรมแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา 2. สถาปัตยกรรมในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ 3. วัดสุทัศน์เทพวราราม และเสาชิงช้า กรุงเทพมหานคร 4. วัดราชนัดดาราม และพื้นที่ที่เกี่ยวเนื่อง กรุงเทพมหานคร 5. พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม 6. แหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์และแหล่งวัฒนธรรมของจ.น่าน 7. เส้นทางวัฒนธรรมไชยาถึงไทรบุรี (เคดาห์) 8. เมืองโบราณเชียงแสน จ.เชียงราย 9. แหล่งวัฒนธรรมล้านนา 10. วัดพระมหาธาตุวรมหาวิการ จ.นครศรีธรรมราช และ 11. เส้นทางรถไฟสายมรณะ จ.ราชบุรีถึงจ.กาญจนบุรี.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น