วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ฮุนเซนสั่งกองทัพ ร่วมมือไทย ถกอาร์บีซีลุล่วง





นายกฯกัมพูชาสั่งกองทัพให้ความร่วมมือกับกองทัพบกของไทยอย่างเต็มที่ หลังการประชุมคณะกรรมการชายแดนระดับภูมิภาค หรืออาร์บีซี ของทั้ง 2 ฝ่ายลุล่วงไปด้วยดี เพื่อเตรียมให้การประชุมระดับชายแดนทั่วไป หรือจีบีซี ที่จะมีขึ้นเดือนหน้าราบรื่น...

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 27 ส.ค. ว่า สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา กล่าวในการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า การประชุมคณะกรรมการชายแดนระดับภูมิภาคทหาร หรืออาร์บีซี (RCB) ของกองทัพกัมพูชาและกองทัพไทย ซึ่งจัดขึ้นในประเทศไทยเมื่อวันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา ประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง พร้อมกับสั่งให้กองทัพกัมพูชาให้ความร่วมมือกับกองทัพไทยอย่างเต็มที่และอย่างใกล้ชิด เพื่อให้บรรยากาศแห่งความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายตามแนวชายแดนดีขึ้นเป็นลำดับ

สำหรับการประชุมดังกล่าวนี้ มีขึ้นเพื่อเตรียมการให้การประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปของไทยและกัมพูชา หรือจีบีซี (GBC) ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในราวต้นเดือนหน้าเป็นไปอย่างราบรื่น

นายเนียง พัท รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชา กล่าวว่า หลังการประชุมจีบีซีผ่านพ้นไปแล้ว เชื่อมั่นได้ว่ากองทัพกัมพูชาและกองทัพไทยจะร่วมกันทำให้ชายแดนไทย-กัมพูชา เป็นดินแดนแห่งสันติภาพอย่างแน่นอน และยังสอดคล้องกับคำสั่งของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ให้กัมพูชาและไทยหยุดยิง และให้บริเวณโดยรอบของปราสาทพระวิหารเป็นเขตปลอดทหาร

ทั้งนี้ ทหารไทยและกัมพูชามีการกระทบกระทั่งกันตามแนวชายแดนหลายครั้ง นับตั้งแต่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ขึ้นทะเบียนให้ปราสาทพระวิหาร เป็นมรดกโลก เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2551 เป็นต้นมา แต่หลังจากพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งได้จัดตั้งรัฐบาล สถานการณ์ก็ผ่อนคลายลง.

วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วธ.เตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมโบราณสถาน “อยุธยา” ยังไม่น่าเป็นห่วง



"สุกุมล" ตรวจโบราณสถานอยุธยา หลังฝนลดเผยกระทบ 38 วัด 29 มัสยิด โดยอยู่ในภาวะวิกฤต 3 แห่ง ชี้ยังไม่น่าเป็นห่วง กำแพงคอนกรีตป้องกันน้ำท่วมวัดไชยวัฒนาราม มีประสิทธิภาพ ส่วนปัญหาน้ำใต้ดิน ซึมเข้าโบราณสถาน ได้เตรียมเครื่องสูบน้ำ หากน้ำซึมจะระบายน้ำออกทันที

วันนี้ (26 ส.ค.) นางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วย นายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางโสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากร เดินทางตรวจเยี่ยมโบราณสถานใน จ. พระนครศรีอยุธยาที่มีความเสี่ยงต่อสถานการณ์น้ำท่วม ประกอบด้วย วัดไชยวัฒนาราม หมู่บ้านโปรตุเกส วัดธรรมาราม

โดย นายสุกุมล กล่าวหลังจากได้รับรายงานสถานการณ์น้ำท่วมจ.พระนครศรีอยุธยาว่า หลังจากน้ำในแม่น้ำเจ้ายามีฝนตกน้อยลง ทั้งนี้กรมชลประทานจะปล่อยน้ำออกสู่ทะเลในช่วงวันที่ 23-27 สิงหาคมนี้ เพื่อป้องให้ระดับน้ำท่วมใน จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งปริมาณน้ำที่ไหลผ่านในเขตพื้นที่โบราณสถานยังไม่พบว่าประสบปัญหา ยังสามารถลองรับระดับน้ำได้ อย่างไรก็ตามได้รับรายงานว่าวัดที่อยู่ในเขตพื้นที่อยุธยาได้รับผลกระทบ 38 วัด และมัสยิด ได้รับผลกระทบ 29 แห่ง โดยอยู่ในภาวะวิกฤต 3 แห่ง ทั้งนี้ภาพรวมของระดับน้ำในเขตพื้นที่โบราณสถานถือว่ายังไม่น่าเป็นห่วง เพราะระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่งอีกหลายเซนติเมตร อาทิ บริเวณวัดชัยวัฒนาราม และวัดธรรมาราม อยู่ต่ำกว่าตลิ่ง 30 เซนติเมตร ส่วนบริเวณหมู่บ้านโปรตุเกสต่ำกว่าตลิ่ง 80 เซนติเมตร ขณะที่บริเวณป้อมเพชรต่ำกว่าตลิ่ง 1 เมตร

นางสุกุมล กล่าวว่า จากการตรวจเยี่ยมแหล่งโบราณสถาน พบว่า สถานการณ์ยังไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ยังมีปริมาณไม่สูงมาก มีระบบป้องกันที่ยอดเยี่ยมสามารถป้องกันน้ำท่วมได้เป็นอย่างดี ทำให้ 2 ปีที่ผ่านมา ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำท่วมมากเกินไป ดังนั้นการสร้างกำแพงคอนกรีตป้องกันน้ำท่วมบริเวณวัดไชยวัฒนาราม มีประสิทธิภาพอย่างมาก ส่วนกรณีปัญหาน้ำใต้ดิน ซึมเข้าสู่โบราณสถาน อาทิ ที่หมู่บ้านโปรตุเกส รวมถึงวัดไชยวัฒนารามนั้น ทางจังหวัดก็ได้เตรียมเครื่องสูบน้ำไว้แล้ว ซึ่งหากมีน้ำซึมเข้ามาก็จะมีการระบายน้ำออกทันที ส่วนปัญหาน้ำท่วมแหล่งโบราณสถานทั่วประเทศ ขณะนี้ ยังไม่ได้รับรายงานความเสียหาย อย่างไรก็ตาม ตนได้สั่งการให้กรมศิลปากร ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง หากจังหวัดใดมีปัญหาน้ำท่วมมาก จะเข้าไปตรวจสอบต่อไป ในส่วนโบราณสถานในจ.สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชรนั้น จะหารือทางกรมศิลปากร ว่า จะมีวิธีใดบ้างที่มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันน้ำท่วม ซึ่งอาจจะนำตัวอย่างจากระบบป้องกันใน จ.อยุธยา เป็นต้นแบบ และจะเร่งของบประมาณจากทางรัฐบาลต่อไป

นางสุกุมล กล่าวว่า ในขณะนี้มีปริมาณน้ำที่กรมชลประทานปล่อยออกจากเขื่อนเจ้าพระยา อยู่ที่ประมาณ 1800 ถึง 1900 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อโบราณสถาน แต่หากปล่อยมามากกว่า 2000 ลูกบาศก์เมตร จะทำให้เกิดกระแสน้ำอย่างรุนแรง ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายกับตลิ่งในแนวคันกั้นน้ำ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางกรมศิลปากรได้ก่อสร้างเขื่อนกั้นน้ำเพื่อเป็นระบบป้องกันน้ำท่วม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และโบราณสถาน บริเวณเขื่อนหน้าวัดชัยวัฒนาราม โดยมีการติดตั้งระบบกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กกั้นน้ำท่วมชั่วคราวและเครื่องสูบน้ำไว้สำหรับสูบน้ำท่วมขังโบราณสถานกรณีมีฝนตกชุก รวมถึงคานกั้นน้ำบริเวณหมู่บ้านโปรตุเกส เตรียมพร้อมสำหรับกรณีที่มีระดับน้ำสูงขึ้น ซึ่งขณะนี้สถานการณ์น้ำยังไม่น่าเป็นห่วง

นายสุพจน์ พรหมมาโนช ผอ.สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า โบราณสถานในพื้นที่เกาะเมืองในจังหวัดพระนครศรีอยุธยามี 95 แห่ง ที่มีศักยภาพในการป้องกันน้ำท่วม ส่วนบริเวณนอกเกาะเมืองนั้น อาจจะต้องปล่อยให้มีน้ำท่วมขัง เนื่องจากยังไม่มีระบบป้องกันที่ดี แต่จะต้องมีการเร่งใช้เครื่องสูบน้ำระบายน้ำออก อย่างไรก็ตาม ปัญหาในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ส่วนใหญ่จะอยู่ทางทิศเหนือเขตพระราชวังโบราณ เมื่อฝนตกจะมีน้ำท่วมขังมาก ในส่วนของวัดไชยวัฒนาราม ที่ป้อมเพชร และหมู่บ้านโปรตุเกสนั้นได้ติดตั้งแผงคอนกรีตกั้นตลอดแนว สามารถป้องกันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าท่วมได้ และใช้เหล็กทำเป็นสันเพื่อต้านกระแสน้ำเข้ามาปะทะ

เลื่อนดัน ภูมิทัศน์ริมเจ้าพระยา ขึ้นมรดกโลก

ป่วนเลื่อนรับฟังความคิดเห็น "ภูมิทัศน์ริมเจ้าพระยา" เป็น "มรดกโลก" อย่างไม่มีกำหนด กรมศิลป์แจงการขึ้นทะเบียนไม่กระทบต่อวิถีชีวิตประชาชน...เมื่อวันที่ 25 ส.ค. นางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า จากการที่กรมศิลปากร จะเปิดรับฟังความคิดจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและได้รับกระทบต่อการเสนอขึ้นทะเบียนภูมิทัศน์วัฒนธรรมแห่งแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นเป็นมรดกโลก และสถาปัตยกรรมใน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ต่อองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ในวันที่ 26 ส.ค.นั้น ตนเห็นว่า ควรจะเลื่อนออกไปก่อน เนื่องจากกรมศิลปากร จะดำเนินการให้ความรู้ประชาชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาเกี่ยวกับผลกระทบ และข้อมูลในเชิงลึกเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนก่อนที่เปิดรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากมีบทเรียนจากเหตุการณ์พระปฐมเจดีย์ พบว่า ประชาชนยังขาดข้อมูลและเข้าใจคลาดเคลื่อนจึงคัดค้านการขึ้นทะเบียนมรดกโลก ด้านแหล่งข่าวระดับสูงกรมศิลปากร กล่าวว่า กรมศิลปากร จะต้องทำการเลื่อนการรับฟังความคิดเห็นประชาชนออกไปก่อนอย่างไม่มีกำหนด และอยากทำความเข้าใจต่อประชาชนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาว่า การขอขึ้นทะเบียนภูมิทัศน์วัฒนธรรมแห่งแม่น้ำเจ้าพระยามรดกโลกต่อยูเนสโก ตั้งแต่บริเวณสะพานสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า หรือสะพานพุทธ จนถึงบริเวณ สะพานกรุงธน หรือสะพานซังฮี้ จะไม่กระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน ซึ่งประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เพียงแต่จะมีการปรับภูมิทัศน์บางส่วน เช่น การเก็บสายไฟฟ้าที่รกรุงรัง การรื้อถอนป้ายโฆษณาที่บังหน้าวัด หรือภูมิทัศน์สำคัญ เป็นต้น ส่วนการที่ประชาชนจะรื้อถอนหรือต่อเติมอาคารบ้านเรือนในพื้นที่ที่ได้ขึ้น ทะเบียน ก็สามารถทำได้ เพียงแต่จะต้องขออนุญาตจากเจ้าของพื้นที่ คือ กรุงเทพมหานคร "อยากทำความเข้าใจต่อประชาชนว่า การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยเฉพาะภูมิทัศน์วัฒนธรรมแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเนื้อหาที่นำเสนอต่อยูเนสโก จะมีเรื่องวิถีชีวิตริมแม่น้ำเจ้าพระยาเกี่ยวข้องไปด้วย ดังนั้น วิถีชีวิตของประชาชนริมแม่น้ำก็ยังคงดำเนินชีวิตได้ตามปกติ จึงไม่อยากให้ประชาชนกังวลไปก่อน แต่ทั้งนี้ หากกรมศิลปากร เปิดรับฟังความคิดเห็น ก็สามารถแสดงความคิดเห็นมาได้ กรมศิลปากร พร้อมรับฟังและจะให้คำแนะนำความรู้ต่างๆที่ประชาชนยังไม่ทราบด้วย" แหล่งข่าวระดับสูงกรมศิลปากร กล่าวทั้งนี้ ในหนังสือมรดกโลกทางวัฒนธรรมในประเทศไทย จัดพิมพ์เนื่องในโอกาส 100 ปี แห่งการสถาปนากรมศิลปากรและครบรอบ 20 ปี การประกาศขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมในประเทศไทย โดยสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร ระบุชัดเจนว่า เปิดเผยว่า หลังจากที่ไทยได้ลงนามสัตยาบันเป็นรัฐภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครอง มรดกโลก เมื่อปี 2530 และได้มีการสรรหาแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าความสำคัญอันโดดเด่น ระดับสากล เพื่อเสนอเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม โดยได้รับการพิจารณา 3 แหล่ง ได้แก่ 1. เมืองเก่าสุโขทัยและเมืองที่เกี่ยวข้อง 2. นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และ 3. แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง โดยในปี 2554 นี้ กรมศิลปากรมีรายการแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมในไทยที่จะนำเสนอเข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นของแหล่งมรดกโลก (Tentative List) ทั้งสิ้น 11 แหล่ง ดังนี้ 1. ภูมิทัศน์วัฒนธรรมแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา 2. สถาปัตยกรรมในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ 3. วัดสุทัศน์เทพวราราม และเสาชิงช้า กรุงเทพมหานคร 4. วัดราชนัดดาราม และพื้นที่ที่เกี่ยวเนื่อง กรุงเทพมหานคร 5. พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม 6. แหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์และแหล่งวัฒนธรรมของจ.น่าน 7. เส้นทางวัฒนธรรมไชยาถึงไทรบุรี (เคดาห์) 8. เมืองโบราณเชียงแสน จ.เชียงราย 9. แหล่งวัฒนธรรมล้านนา 10. วัดพระมหาธาตุวรมหาวิการ จ.นครศรีธรรมราช และ 11. เส้นทางรถไฟสายมรณะ จ.ราชบุรีถึงจ.กาญจนบุรี.

โวย เดอะไทม์ เวิลด์เฮอริเทจ สะกดแหล่งมรดกโลกเพี้ยน

Pic_195346
อดีตอธิบดีกรมศิลป์ โวยหนังสือ "เดอะไทม์ เวิลด์เฮอริเทจ" สะกดคำแหล่งมรดกโลก "กำแพงเพชร-ศรีสัชนาลัย" เพี้ยน หวั่นคนทั่วโลกเข้าใจผิด จี้ วธ.ร่อนหนังสือแก้ไขเร่งด่วน...

เมื่อวันที่ 19 ส.ค. ที่ห้องประชุมดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร จัดงานสัมมนามรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งราชอาณาจักรไทย เนื่องในโอกาสครบ 100 ปี กรมศิลปากร และ 20 ปี มรดกโลกแห่งราชอาณาจักรไทย โดยนายเดโช สวนานนท์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ได้พบเรื่องที่น่าตกใจ เมื่อสมาคมสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งของฝรั่งเศสได้ส่งหนังสือ "The Times UNESCO WORLD HERITAGE" เล่มที่ 8 หน้าปกรูปนครวัด ประเทศกัมพูชา ตีพิมพ์เมื่อปี 2553 ในหนังสือเล่มนี้ว่าด้วยเรื่องมรดกโลกทางวัฒนธรรมทั่วโลก มีรูปและคำอธิบายแต่ละเรื่องที่ปรากฏอยู่กว่า 890 แห่ง รวมทั้งอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและกำแพงเพชรของประเทศไทยด้วย

ทั้งนี้ เมื่อเปิดอ่านดูพบว่า คำบรรยายภาษาอังกฤษฉบับนี้ได้พิมพ์ชื่อเมืองผิดอยู่ 2 แห่ง คือศรีสัชนาลัย สะกดว่า Si Satchaum และกำแพงเพชร สะกดว่า Kamohena Pet ซึ่งเป็นการสะกดคำภาษาอังกฤษที่ผิด ทางนิตยสารเดอะไทม์เป็นผู้จัดพิมพ์ และอ้างว่าได้รับข้อมูลโดยตรงจากยูเนสโก และเวิลด์เฮอริเทจเซนเตอร์ คำที่สะกดผิดนั้น คือ คำว่า "เพชร" เขียนในภาษาไทยมีความหมายในทางที่ดี มีค่ามาก แต่คำว่า "Pet" ภาษาอังกฤษแปลว่าสัตว์เลี้ยง เป็นคนละความหมาย ส่วนคำสะกดว่า "chaum" นั้น อาจทำให้เกิดความสับสนกับคำว่าศรีชุมซึ่งเป็นวัดแห่งหนึ่ง ซึ่งตนเข้าใจว่าฝรั่งอาจไม่คุ้นกับเสียงไทยจึงสะกดคำผิด และถือเป็นเรื่องใหญ่หากไม่มีการแก้ไขเพราะหนังสือเล่มดังกล่าวจะถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก ดังนั้นเห็นว่าหน่วยงานของไทยที่เกี่ยวข้องทางมรดกโลกทางวัฒนธรรมอย่างกระทรวงวัฒนธรรมหรือกรมศิลปากร ควรทำหนังสือแจ้งไปยังเดอะไทม์ ยูเนสโก เวิลด์เฮอริเทจ ให้แก้ไขคำภาษาอังกฤษ 2 คำให้ถูกต้อง โดยคำ "ศรีสัชนาลัย" ภาษาอังกฤษที่ถูกควรสะกด "Si Satchanaiai" และคำว่า "กำแพงเพชร" ควรสะกดคำติดกัน "Kampangpet"

"จากประสบการณ์ผมไม่เชื่อว่ายูเนสโกจะสะกดคำผิด แต่เป็นไปได้ว่าคนที่พิมพ์ต่อๆ กันไม่คุ้นคำและเสียงของภาษาไทย เรื่องอย่างนี้หนังสือฝรั่งอีกหลายเล่มยังเกิดความผิดพลาด ทำให้คนอ่านแล้วไม่รู้เรื่องว่าชื่อเมืองอะไร ดังนั้นแล้ว เราเป็นเจ้าของบ้านเจ้าของเรื่องอยากให้คนอื่นเขาอ่านถูกต้อง จึงเห็นว่าหน่วยงานของไทยที่เกี่ยวข้องควรแจ้งไปยังเดอะไทม์ ขอให้ช่วยแก้คำสะกดผิดให้ถูกต้อง โดยการแทรกคำถูกลงไปในหนังสือเล่มดังกล่าว ผู้อ่านจะได้ไม่เกิดความสับสนในการใช้คำ และถ้าให้ดีควรมีการสะกดคำเหมือนที่ดิกชันนารีทั่วไปมี เพราะไม่อย่างนั้นแล้วต่อไปจะแปลกันไม่รู้เรื่องว่ามีความหมายอย่างไร ทั้งจะไม่เห็นความสำคัญ แม้คำว่าเพชรที่เขียนในภาษาไทยมีความหมาย แต่เพชรภาษาอังกฤษตรงนี้เป็นสัตว์เลี้ยง เป็นคนละความหมาย" นายเดโช กล่าว.
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๔

สั่งระงับชั่วคราว พระปฐมเจดีย์ เป็นมรดกโลก

 
Pic_196519
หมดลุ้น "พระปฐมเจดีย์" มรดกโลก "สุกุมล" สั่งระงับชั่วคราว เร่งให้ความรู้ชาวบ้านก่อนสำรวจอีกครั้ง พบชาวบ้านหวั่นหลังขึ้นทะเบียนจะไม่สามารถทำการค้าขายหรืออาศัยอยู่บริเวณ ดังกล่าวได้ ...

วันที่ 23 ส.ค. นางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหากรณีประชาชนและกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าบริเวณรอบ องค์พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม คัดค้านการเสนอขึ้นทะเบียนองค์พระปฐมเจดีย์เป็นมรดกโลก โดยเกรงว่าหากขึ้นทะเบียนแล้วอาจถูกไล่ที่ทำกินและทำให้วิถีชีวิตชาวบ้าน เปลี่ยนแปลงไปว่า ตนได้หารือกับกรมศิลปากรและพิจารณาผลการรับความคิดเห็นของประชาชนแล้ว โดยได้ข้อสรุปว่าให้กรมศิลปากร ระงับการจัดเก็บข้อมูลและการดำเนินการรับฟังความเห็นทั้งหมดไว้ก่อน เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากชาวบ้านไม่มีข้อมูล ประกอบการตัดสินใจ รู้แค่ว่าหากขึ้นทะเบียนแล้วจะได้รับผลกระทบอย่างเดียว ดังนั้นมอบให้กรมศิลปากรและสำนักงานศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี ไปร่วมมือกับทางจังหวัดนครปฐม ในการให้ความรู้ที่ถูกต้องเรื่องการขึ้นทะเบียนและผลกระทบที่ตามมาหลังจาก ได้รับการขึ้นทะเบียน โดยเฉพาะประเด็นที่ชาวบ้านกังวลมากที่สุดคือการไม่สามารถค้าขาย หรือว่าพักอาศัยในบริเวณดังกล่าวได้

"อย่างไรก็ตามสิ่งที่กรม ศิลปากรทำไปนั้น เพื่อเป็นการดำเนินการทางวิชาการและจัดเก็บข้อมูล ซึ่งที่ผ่านมาการจัดข้อมูลเก็บแหล่งวัฒนธรรมอื่นๆ ส่วนใหญ่ก็ได้รับการสนับสนุน ซึ่งตอนแรกๆอาจจะมีประชาชนคัดค้านบ้าง แต่พอได้รับความรู้ที่ถูกต้องก็เห็นด้วย หลังจากกรมศิลปากร ลงพื้นที่ให้ความรู้ด้านวิชาการและชี้แจงชาวบ้าน จนคิดว่าทุกคนเข้าใจข้อมูลอย่างถูกต้องแล้ว ดิฉันก็จะหารือกับกรมศิลปากร และทางจังหวัดอีกครั้ง เพื่อประเมินแนวโน้มและทิศทางความเห็นของชาวบ้านว่าเป็นอย่างไรบ้าง หากมีจำนวนประชาชนที่เห็นด้วยและคัดค้านมีจำนวนใกล้เคียงกัน ก็อาจจะต้องดำเนินการรับฟังความเห็นจากคนทั้งจังหวัด แต่ถ้ายังมีชาวบ้านจำนวนมากออกมาคัดค้าน ก็จะยุติไม่เสนอเป็นมรดกโลก ทั้งนี้ ดิฉันยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะใช้ระยะเวลาเท่าไรในการทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ต้องประเมินเป็นระยะๆ แต่บอกเลยเลยว่าผลออกมาเช่นไร วธ. พร้อมรับและจะคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาวบ้านในพื้นที่เป็นหลัก" รมว.วัฒนธรรม กล่าว
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๔

วันพุธที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วธ.ถกกรมศิลป์ ขวางเขมร ฉก'ท่ารำไทย'

Pic_193223













"สุกุมล คุณปลื้ม" ประเดิมงานแรกในเก้าอี้ รมว.วัฒนธรรม เตรียมนัดถกอธิบดีกรมศิลปากร-ก.ต่างประเทศ หลังเขมรจ่อขโมย "ท่ารำไทย-ท่าจีบ-หนังใหญ่" ไปขึ้นทะเบียนกับยูเนสโก ยันไม่หนักใจเจอปัญหาระดับชาติเป็นภารกิจแรก เพราะร่วมมือหลายหน่วยงาน…

เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 11 ส.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นางสุกุมล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่กัมพูชาได้นำรำไทย ท่าจีบไทย และหนังใหญ่ไทยขึ้นทะเบียนกับยูเนสโก ว่าขณะนี้ตนได้รับทราบรายละเอียดแล้ว จากนี้จะหารือกับนางโสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากร ในฐานะกรรมการมรดกโลก เพื่อลงในรายละเอียดอีกครั้งว่า สิ่งที่กัมพูชาจดทะเบียนนั้นเป็นการจดทะเบียนในลักษณะไหนอย่างไร ต้องขอเวลา นอกจากนั้น ยังต้องหารือกับนายสุรพงษ์ โตวิจักรชัยกุล รมว.ต่างประเทศ ด้วยว่าขั้นตอนการจดทะเบียนศิลปวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างไร ปัญหานี้ถือเป็นภารกิจแรกที่ต้องเร่งดำเนินการ เพราะประชาชนให้ความสนใจและเป็นวัฒนธรรมไทย หากต่างชาติจะนำไปขึ้นทะเบียนเราก็ต้องปรึกษาหารือ หาทางแก้ไขกันต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า รู้สึกหนักใจกับภารกิจแรกที่ต้องแก้ปัญหาระดับชาติอย่างนี้หรือไม่ นางสุกุมล กล่าวว่า ไม่หนักใจ เพราะมีหลายหน่วยงานที่จะทำงานและหารือร่วมกัน ไม่ได้ทำงานคนเดียว ซึ่งต้องขอความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน

ด้านนายสมชาย เสียงหลาย ปลัด วธ. กล่าวว่า ได้มอบหมายให้นายอภินันท์ โปษยานนท์ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) นางโสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากร ในฐานะคณะกรรมการมรดกโลก ช่วยตรวจสอบเรื่องดังกล่าวแล้ว โดยให้ทำหนังสือสอบถามข้อเท็จจริงไปยังกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) รวมทั้งประสานไปยังผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การยูเนสโกช่วยตรวจสอบเรื่องดัง กล่าว ณ ขณะนี้ วธ.ยังไม่มีข้อมูลเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ตามในสมัยที่ตนดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) ปัจจุบันคือ สวธ. ได้ดำเนินการร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยคุ้มครองมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ พ.ศ. … เพื่อคุ้มครองและยืนยันว่ามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ อาทิ มวยไทย ท่ารำ เป็นของประเทศไทย ทั้งนี้ ความคืบหน้าการผลักดันพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวได้ดำเนินการร่างเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นในบางมาตรา

นายสมชาย กล่าวว่า วธ. จะรายงานรายละเอียดของพ.ร.บ.ดังกล่าวให้นางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการ วธ. รับทราบ เพื่อเสนอให้รัฐบาลเร่งผลักดันกฎหมายนี้ รวมทั้งจะต้องหารือกับรัฐมนตรีว่า วธ. เพื่อเสนอรัฐบาลว่าประเทศไทยสมควรเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยมรดกทาง วัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้กับยูเนสโกหรือไม่ เพราะขณะนี้ไทยยังไม่ได้ร่วมภาคีฉบับดังกล่าว ทั้งนี้ข้อดีของการเป็นภาคีฯ เพื่อประกาศให้นานาประเทศรับทราบว่ามรดกวัฒนธรรมของไทยที่จับต้องไม่ได้มี อะไรบ้างและมีโอกาสทักทวงหากประเทศใดนำมรดกวัฒนธรรมของไทยไปขึ้นทะเบียน อย่างไรก็ตามการเข้าร่วมเป็นภาคีฯ และผลักดันพ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อเป็นเครื่องมือในการปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ทั้งนี้ต้องเข้าใจด้วยว่ามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้บางอย่างของประเทศไทย มีความคล้ายคลึงกับประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นยากจะแยกไม่ออก จึงต้องมีการเก็บรวบรวมข้อมูลและหาหลักฐานยืนยัน ซึ่งที่ผ่านมา สวธ. ได้ขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติกว่า 25 รายการ เพื่อเตรียมความหากไทยเข้าร่วมภาคีฯ กับยูเนสโก

ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ที่เว็บไซต์ยูเนสโก มีการขึ้นรายงานการขึ้นทะเบียน มรดกที่ไม่มีตัวตน ในส่วนของกัมพูชาไว้ 2 รายการ ได้แก่ เดอะรอยัลบัลเล่ต์ของกัมพูชา จารึกไว้ในปี 2008 ในรายการตัวแทนของมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติที่ไม่มีตัวตน (แต่เดิมประกาศในปี 2003) และ เขมรเงาโรงละคร จารึกไว้ในปี 2008 ในรายการตัวแทนของมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติที่ไม่มีตัวตน (แต่เดิมประกาศในปี 2005) โดยมีประวัติ รูปถ่าย และวีดิโอของท่ารำ และเขมรเงาโรงตามรูปแบบของกัมพูชาอย่างละเอียดด้วย.