วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554

ตำนานแห่งนักอนุรักษ์ก็ได้เริ่มต้นขึ้นทันทีที่สิ้นเสียงปืน ... "ปัง!!!!"

เช้าวันที่ 1 กันยายน 2533 สืบ นาคะเสถียร ได้ชำระสะสางภาระหน้าที่รับผิดชอบ และทรัพย์สินส่วนตัวที่คั่งค้าง มอบหมายเครื่องใช้ และอุปกรณ์ต่างๆ ให้กับคนสนิทใกล้ชิดเป็นผู้ดูแล และเป็นธุระส่งคืนเจ้าของ

พร้อมๆ กับที่ตำนานแห่งนักอนุรักษ์ก็ได้เริ่มต้นขึ้นทันทีที่สิ้นเสียงปืน ... "ปัง!!!!"


เป็นเวลากว่า 21 ปีแล้ว ที่ประเทศไทยได้สูญเสีย สืบ นาคะเสถียร ทรัพยากรบุคคลอันมีค่าไปอย่างไม่มีวันกลับ ทำให้วันนี้ชื่อของเขากลายเป็นตำนานที่เล่าขานต่อกันมาจากรุ่นสูุ่รุ่น...เรื่องราวชีวิตของ สืบ นาคะเสถียร เริ่มต้นขึ้นอย่างไร วันนี้ Sanook! Travel จะชวนคุณย้อนเวลากลับไป เพื่อทำความรู้จักกับเขา...

2492 สืบ นาคะเสถียร เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม ที่ตำบลท่างา อำเภอเมืองจังหวัดปราจีนบุรี เป็นลูกของนายสลับ นาคะเสถียร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีน และนางบุญเยี่ยม นาคะเสถียร มีพี่น้องทั้งหมดสามคน โดยสืบ เป็นบุตรชายคนโต น้องชายและน้องสาวอีก 2 คน คือ กอบกิจ นาคะเสถียร และกัลยา รักษาสิริกุล

2502 สืบมีนิสัยทำอะไรมักจะทำให้ได้ดีตั้งแต่เด็ก และเมื่อจบประถม 4 สืบได้ย้ายไปเรียนโรงเรียนเซ็นต์หลุยส์ จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นนักเป่าทรัมเป็ตมือหนึ่ง และนักวาดภาพฝีมือดีของโรงเรียน

2510-2514 สืบอยากเรียนสถาปัตยกรรมเพราะชอบด้านศิลปะ แต่มาสอบติดคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์รุ่นที่ 35

2516-2517 เมื่อสำเร็จการศึกษาได้เข้าทำงานที่ส่วนสาธารณะการเคหะแห่งชาติ และไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขาวนวัฒน์วิทยา คณะวนศาสตร์

2518 สอบเข้ากรมป่าไม้ได้ แต่เลือกที่จะมาทำงานที่กองอนุรักษ์สัตว์ป่าโดยไปประจำที่เขตรักษาพันธุ์ สัตว์ป่า เขาเขียว-เขาชมพู่จังหวัดชลบุรี

2522 ได้รับทุนจาก British Council ไปเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษในสาขาอนุรักษ์วิทย

2524 ดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ และเริ่มงานวิจัยชิ้นแรก คือการศึกษาการทำรังวางไข่ของนกบางชนิด ที่อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี

2528 เดินทางไปทำวิจัยเรื่องกวางผา กับดร.แซนโดร โรวาลี ที่ดอยม่อนจองในบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ป่า จนเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเสียชีวิต สร้างความสะเทือนใจให้แก่สืบมาก

2529 หัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าในเขื่อนเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีสัตว์นับพันตัวได้รับความช่วยเหลือ แต่สืบรู้ดีว่ามีสัตว์อีกนับจำนวนมหาศาลที่ตายจากการสร้างเขื่อน และในระหว่างนั้น สืบได้ค้นพบรังนกกระสาคอขาวปากแดงครั้งแรกในประเทศไทย

2530 สืบได้เปลี่ยนบทบาทจากนักวิชาการไปสู่นักอนุรักษ์ โดยเข้าร่วมต่อสู้คัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน จังหวัดกาญจนบุรี สืบชี้ให้เห็นถึงบทเรียนจากการที่มีสัตว์จำนวนมาก ล้มตายหลังจากการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน สืบเริ่มต้นอภิปรายทุกครั้งว่า "ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่า"

2531 สืบและเพื่อนอนุรักษ์ออกโรงคัดค้านการที่บริษัทไม้อัดไทยจะขอสัมปทานทำไม้ ที่ป่าห้วยขาแข้ง สืบได้อภิปรายว่า "คนที่อยากอนุญาตให้ทำไม้ก็เป็นกรมป่าไม้ คนที่จะรักษาก็เป็นกรมป่าไม้เหมือนกัน"

2532 สืบได้รับทุน เรียนต่อปริญญาเอกที่ประเทศอังกฤษ แต่ตัดสินใจเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สืบพบปัญหาต่างๆ มากมายในห้วยขาแข้ง อาทิ ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์ของบุคคลที่มีอิทธิพล เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าถูกยิงเสียชีวิต ปัญหาความยากจนของชาวบ้านรอบป่า และที่สำคัญคือปัญหาเหล่านี้ไม่เคยได้รับความสนใจจากผู้ใหญ่เลย สืบจึงทุ่มเทเขียนรายงานนำเสนอยูเนสโก เพื่อพิจารณาให้ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลก อันเป็นสิ่งค้ำประกันให้พื้นที่แห่งนี้ได้รับการคุ้มครองเต็มที่

1 กันยายน 2533 สืบสะสางงาน และเขียนพินัยกรรมไว้เรียบร้อย ก่อนกระทำอัตวิบาตรกรรม เพื่อเรียกร้องให้สังคมและราชการหันมาสนใจปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ อย่างจริงจัง

เพียงไม่นาน หลังจากที่สืบเสียชีวิต เพื่อนพ้องน้องพี่ที่มีอุดมการณ์เดียวกัน จึงได้ก่อตั้ง มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ขึ้นในวันที่ 18 กันยายน 2533 โดยร่วมกันสานความฝัน สืบต่อความคิด ใส่ความมุ่งมั่นในการทำงาน อนุรักษ์ป่าไม้ สัตว์ป่า และในวันที่ 26 เมษายน 2536 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินมาที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เพื่อทรงเปิดอนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียร

แม้ว่าวันนี้จะไม่มีร่างกายและลมหายใจของสืบ นาคะเสถียรแล้ว แต่เชื่อได้ว่า หัวใจแห่งนักอนุรักษ์ไทย ผู้ที่รักป่าไม้ ธรรมชาติ ด้วยกาย วาจา และใจ จะยังคงอยู่ปกป้องคุ้มครองป่าต่อไป...

แล้วคุณล่ะ วันนี้คุณทำอะไร เพื่อปกป้องผืนป่าของเราแล้วหรือยัง?

ที่มา : http://travel.sanook.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น