วันพุธที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ชาวโคราชไม่หวั่น "ปราสาทพิมาย" ชวดมรดกโลก – ลั่นดีกว่าเสียดินแดนให้ “เขมร”

อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย อ.พิมาย จ.นครราชสีมา แหล่งโบราณสถานสำคัญของประเทศไทย
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- ชาวโคราชไม่หวั่น "ปราสาทหินพิมาย" แหล่งโบราณสถานสำคัญของไทยที่อยู่ระหว่างขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกไม่ได้รับการพิจารณา เห็นด้วยไทยถอนตัวจากภาคีมรดกโลกดีกว่าเสียดินแดน "เขาพระวิหาร" ให้เขมร ด้านผอ.สำนักศิลปากรที่ ๑๒ ระบุ นักท่องเที่ยวไทยเทศเข้าชม ปีละกว่า ๔ แสน สร้างรายได้กว่า ๗ ล้าน ระบุไม่ขึ้นทะเบียนมรดกโลกไม่กระทบเป็นรู้จักทั่วโลกอยู่แล้ว และไทยเรามีงบฯ ดูแลต่อเนื่อง ล่าสุดทุ่ม ๒๕ ล้านบูรณะ

นายกฯแจงผอ.ยูเนสโกร่อนจม.ถึงไทยทบทวนถอนตัวมรดกโลก

นายกฯเผยที่ประชุมครม.ผอ.ยูเนสโกร่อนจดหมายถึง ระบุให้ทบทวนถอนตัวมรดกโลก เหน็บ"ฮุนเซ็น"โวได้รับชัยชนะ ยันไม่นำอธิปไตยไทยแลกขึ้นทะเบียนมรดกโลก
ทำเนียบรัฐบาล -นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรีว่า วันนี้นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะผู้แทนไทยในคณะกรรมการมรดกโลก ได้รายงานในที่ประชุม ว่าเมื่อวันที่ ๒๗ มิ.ย.ที่ผ่านมา นางอิรินา โบโกวา ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ทำหนังสือมาถึงตน พร้อมทั้งยืนยันว่ามติของคณะกรรมการมรดกโลกมีความชัดเจนว่าไม่ได้พิจารณาแผนการบริหารจัดการของกัมพูชา และขอให้ไทยทบทวนกรณีที่ได้แสดงเจตนารมณ์ถอนตัวออกจากภาคีอนุสัญญามรดกโลก

ลาออกจากมรดกโลก: บนความสูญเสียของใคร?


โดย พวงทอง ภวัครพันธุ์
การประกาศแบบฟ้าผ่าของนายสุวิทย์ คุณกิตติ ว่าประเทศไทยขอถอนตัวจากการเป็นภาคีของอนุสัญญามรดกโลกนับเป็นชัยชนะอีกครั้งหนึ่งของกลุ่มชาตินิยม โดยที่ไม่มีความชัดเจนว่าอะไรคือเหตุผลร้ายแรงที่ทำให้นายสุวิทย์ตัดสินใจเช่นนั้น ในขณะที่นายสุวิทย์ บอกว่าสาเหตุมาจากการที่ไทยไม่เห็นด้วยกับการที่กัมพูชาจะใช้คำว่า "urgent repair" (ซ่อมแซมอย่างเร่งด่วน) และ "restoration" (ฟื้นฟู, บูรณะ) แต่ต้องการให้ใช้คำว่า "protection" (ปกป้อง) และ "conservation" (อนุรักษ์) และแผนบริหารจัดการฉบับใหม่ของกัมพูชาสุ่มเสี่ยงให้ไทยเสียดินแดน แต่ข้อมูลที่ปรากฏกลับตรงกันข้ามกับสิ่งที่นายสุวิทย์แถลงโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ

ยูเนสโกขึ้นทะเบียนมรดกโลกอีก 9 แห่ง‏

คณะกรรมการมรดกโลก อนุมัติ ๙ สถานที่ ให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกใหม่ โดยกระจายอยู่ในทวีปแอฟริกา ยุโรป และเอเชีย โดย ๔ สถานที่ในเอเชีย ประกอบด้วย หมู่บ้านโบราณทางตอนเหนือของประเทศซีเรีย (สาธารณรัฐอาหรับซีเรีย) แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม อัล-อิน (Al Ain) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เปอร์เซีย การ์เด้น ประเทศอิหร่าน และ ป้อมปราการราชวงศ์โฮ ประเทศเวียดนาม
ในยุโรป ๓ แห่ง ได้แก่ ภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรม เซอร์รา เดอ ทรามุนตานา ประเทศสเปน กองเสาหินรอบเทือกเขาแอลป์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และ สโลวีเนีย มัสยิดเซลิม ประเทศตุรกี อีก ๒ แห่งในแอฟริกา ได้แก่ ภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมของชนเผ่าคอนโซ ประเทศเอธิโอเปีย และป้อมพระเยซู ในมอมบาซา ประเทศเคนยา
ทั้งนี้ นับตั้งแต่การประชุมคณะกรรมการมรดก ครั้งที่ ๓๕ ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ ๑๙ มิถุนายน ที่ผ่านมา มีการขึ้นทะเบียนมรดกโลกใหม่ แล้ว ๒๒ แห่ง รวมมรดกโลกปัจจุบัน มีทั้งสิ้น ๓๕ แห่ง
ที่มา : ASTV ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๔ 

มุมมองแบบเต็ม||กลับไปที่ ข้อความ"ผอ.ยูเนสโก" เสียใจไทยถอนตัวภาคีมรดกโลก สวน "สุวิทย์" ไม่มีวาระพิจารณาแผนการจัดการ "พระวิหาร"

ที่มา เว็บไซต์ประชาไท

เว็บไซต์องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เผย นางเอรินา โบโควา ผู้อำนวยการยูเนสโก แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการประกาศถอนตัวการเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญามรดกโลก ๑๙๗๒ ของนายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากประเทศไทย ซึ่งประกาศในระหว่างการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกวาระที่ ๓๕ ที่สำนักงานใหญ่ของยูเนสโกในกรุงปรารีส ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๙-๒๙ มิ.ย. ๒๕๕๔
ผู้อำนวยการยูเนสโกกล่าวสำทับว่า อนุสัญญามรดกโลก ๑๙๗๒ นั้นไม่เพียงแต่เป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในการอนุรักษ์และปกป้องวัฒนธรรมและทรัพยากรธรรมชาติของโลกซึ่งมีคุณค่าเป็นสากล แต่ยังได้รับการยอมรับกว้างขวางว่าเป็นเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการสร้างความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนอภิปรายในระดับนานาชาติ

วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2554

"ผลดี-ผลเสีย"ของไทย ลาออก"มรดกโลก"‏

ที่มา - มติชน รวบรวมทัศนะและความเห็นกรณีประเทศไทยยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลกและกรรมการมรดกโลก ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ที่ประเทศฝรั่งเศส หลังจากศูนย์มรดกโลกและยูเนสโกไม่ได้ฟังข้อทักท้วงของไทยกรณีนำแผนการบริหารจัดการเขาพระวิหารเข้าสู่ที่ประชุม เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นายกรัฐมนตรี
"..การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกเมื่อคืนที่ผ่านมา (๒๕ มิถุนายน) รัฐมนตรีสุวิทย์ (คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) เดินออกจากที่ประชุมและแสดงเจตนาการถอนตัวออกจากการเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลก การดำเนินการทั้งหมดอยู่ในกรอบมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และผ่านการปรึกษาหารือ เมื่อคืนที่ผ่านมาผมได้คุยกับท่านสุวิทย์ทางโทรศัพท์หลายครั้งและประสานกับรัฐมนตรีกษิต ภิรมย์ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ) ด้วย

วันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2554

นายกบ้านเชียงไม่สนโลโก้ "มรดกโลก"

นายกบ้านเชียง ระบุ ยังไม่รู้ว่าผลการถอนตัว จะส่งผลอย่างไรกับบ้านเชียง ที่เป็นมรดกโลกอย่างไร เพราะนับตั้งแต่ขึ้นเป็นมรดกโลกไม่เคยได้รับการสนับสนุนงบประมาณ หรืออะไรจากองค์กรนี้เลยท้องถิ่นเป็นผู้จัดการหมด...
เมื่อวันที่ ๒๖ มิ.ย.๒๕๕๔ พ.ต.สุเมธ คำพิมาน นายกเทศมนตรีตำบลบ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี เปิดเผยว่า ติดตามการเดินทางไปประชุมกรรมการมรดกโลก ของนายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และ สิ่งแวดล้อม อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะช่วงนี้ ที่ตัดสินใจถอนตัวออกจากการเป็น "ภาคีคณะกรรมการมรดกโลก" เพราะเราเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติบ้านเชียง ซึ่งบ้านเชียงเป็นมรดกโลก ลำดับที่ ๓๕๙ ขึ้นทะเบียนมาตั้งแต่ ปี ๒๕๓๕ ซึ่งยังไม่รู้ว่าผลการถอนตัว จะส่งผลอย่างไรกับบ้านเชียง ที่เป็นมรดกโลกอย่างไร
นายกเทศมนตรีตำบลบ้านเชียง กล่าวด้วยว่า นับตั้งแต่บ้านเชียงเป็นมรดกโลก เราไม่เคยได้รับการสนับสนุน งบประมาณ หรืออะไรจากองค์กรนี้เลย เป็นเรื่องที่ท้องถิ่น และประเทศไทยทำทั้งสิ้น รวมทั้งช่วงที่เกิดน้ำท่วม เราก็มาช่วยดูแลแก้ปัญหากันเอง ความเป็นมรดกโลกเป็นเพียงโลโก้ หรือสัญญลักษณ์ เพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์ ไม่ให้เขาลืมเรา ก็จนเรามีชื่อเสียง เราเองเอามาใช้เหมือนพระเครื่อง หรือ ศาลเจ้า ไปบอกให้ช่วยกันดูแลให้ดี ไม่เช่นนั้นจะมีผลเสียแบบนั้นแบบนี้ มาถึงวันนี้หากไม่มีโลโก้ก็ไม่น่ามีปัญหา เพราะคนรู้จักเราแล้ว และพวกเราดูแลกันดีอยู่แล้ว
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๔ 

อดีตกก.มรดกโลกชี้ ถอนตัวภาคี ไม่กระทบเสนอมรดกโลก‏

"อดุล" เผย "สุวิทย์" ขอปรึกษาก่อนตัดสินใจถอนตัวภาคีมรดกโลก ย้ำไม่กระทบเสนอชื่อแหล่งมรดกโลก แต่ก็ไม่ควรเสนอแล้ว ยัน"สุวิทย์" ไม่ผิดมติครม....
ศ.ดร.อดุล วิเชียรเจริญ อดีตคณะกรรมการมรดกโลก ๒๑ ประเทศ กล่าวว่า ก่อนที่นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จะเดินทางไปประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ๒๑ ประเทศ ครั้งที่ ๓๕ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้มาพบตนและหารือเรื่องแผนบริหารจัดการรอบปราสาทพระวิหาร ซึ่งได้เสนอแนวคิดและสนับสนุนให้ไทยได้ประกาศถอนตัวจากการเป็นภาคีสมาชิก อนุสัญญามรดกโลก เพราะอยู่ไปก็ไม่มีประโยชน์ หากที่ประชุมมีมติไม่ยอมเลื่อนวาระการพิจารณาแผนบริหารจัดการรอบปราสาทพระวิหาร ที่ฝ่ายกัมพูชาเสนอ ซึ่งที่ผ่านมา กรรมการมรดกโลกพยายามเกื้อกูลกัมพูชามาโดยตลอด ที่สำคัญไทยไม่เคยยอมรับแผนบริหารจัดการดังกล่าวเลย
ศ.ดร.อดุล กล่าวว่า เท่าที่ทราบยังไม่มีประเทศใดถอนตัวออกจากภาคีสมาชิก ไทยเป็นประเทศแรกที่ลาออก ซึ่งการถอนตัวออกจากภาคีสมาชิกอนุสัญญามรดกโลกนั้น จะไม่กระทบต่อแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ ที่ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลก และจะไม่ถูกถอดถอน และจะไม่เสียฐานะยังคงเป็นอยู่ต่อไป ส่วนที่ว่าหากไทย จะขอกลับไปเป็นภาคีสมาชิกอีกครั้งทำได้หรือไม่ ตนมองว่าในเมื่อไทยตัดสินใจลาออกมาแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลอะไรต้องกลับไปอีก ที่ผ่านมาที่ไทยยอมเป็นภาคีมรดกโลก เนื่องจากตอนนั้นการพิจารณามรดกโลกเป็นไปอย่างเคร่งครัด แต่มาภายหลังไม่มีหลักเกณฑ์ชัดเจน
อดีตคณะกรรมการมรดกโลก กล่าวว่า การที่ไทยถอนตัวไม่เป็นภาคีมรดกโลกแล้ว จะสามารถเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติให้เป็นมรดกโลกได้หรือไม่ ตามหลักสากล หรือในข้อกำหนดของยูเนสโก ไม่ได้เขียนระบุไว้ว่า หากถอนตัวแล้วจะไม่สามารถเสนอขอเป็นมรดกโลก แต่โดยหลักการแล้ว ในเมื่อเราปฏิเสธกลไกดังกล่าวไปแล้ว เราก็ไม่ควรเสนอเป็นมรดกโลก ซึ่งตนมองว่าไม่มีความจำเป็น และไม่เห็นต้องอาศัยชื่อความเป็นมรดกโลก เพราะไม่ได้ทำให้พื้นที่ของประเทศไทยดีขึ้น เป็นเพียงสัญลักษณ์ทางชื่อเท่านั้น ส่วนประเด็นที่สุวิทย์ถอนตัว โดยไม่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) อาจจะผิดกฎหมายนั้น เท่าที่ทราบแม้จะไม่มีการขอมติ ครม. แต่ก็ได้หารือกับนายกรัฐมนตรีมาก่อนหน้านี้ แล้วจึงไม่น่ามีปัญหา
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๔ 

สื่อนอกตีข่าว ไทยถอนตัวภาคีมรดกโลก หลังยูเนสโกรับพิจารณาแผนพระวิหาร‏

สื่อต่างประเทศตีข่าว ไทยถอนตัวจากการเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลก เพื่อประท้วงคณะกรรมการมรดกโลกที่ตัดสินใจรับพิจารณาแผนบริหารจัดการพื้นที่ปราสาทพระวิหารของฝ่ายกัมพูชา...
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ ๒๖ มิ.ย. ว่า ประเทศไทยได้ถอนตัวออกจากการเป็นภาคีในอนุสัญญามรดกโลกอย่างเป็นทางการแล้ว เพื่อเป็นการประท้วงการตัดสินใจของคณะกรรมการมรดกโลก (World Heritage Committee : WHC) ที่มีมติรับพิจารณาแผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหารของรัฐบาลกัมพูชา
รายงานข่าวระบุว่า นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทย ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนเจรจาของไทยได้ยืนยันเมื่อคืนวันเสาร์ (๒๕ มิ.ย.) ว่า เขาได้แจ้งต่อคณะกรรมการมรดกโลกแล้วถึงการตัดสินใจของฝ่ายไทยที่จะขอลาออกจากการเป็นภาคีในสนธิสัญญาดังกล่าว หลังจากที่ทางคณะกรรมการมรดกโลกเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องของฝ่ายไทยที่เสนอให้เลื่อนการพิจารณาแผนบริหารจัดการพื้นที่ปราสาทพระวิหารของกัมพูชาออกไป จนกว่าการแก้ปัญหาข้อพิพาทเรื่องพรมแดนระหว่างไทย-กัมพูชาจะได้ข้อยุติ
"พวกเขาเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องของเรา ทางคณะกรรมการมรดกโลกไม่ใส่ใจประเด็นเรื่องอำนาจอธิปไตยหรือพรมแดนของไทยแม้แต่น้อย พวกเขาสนใจแต่เรื่องการอนุรักษ์ปราสาทพระวิหารเพียงอย่างเดียวเท่านั้น" นายสุวิทย์กล่าวกับสื่อต่างประเทศ
ทั้งนี้ การถอนตัวของฝ่ายไทยในครั้งนี้ส่งผลให้นับจากนี้ทางคณะกรรมการมรดกโลกจะไม่มีอำนาจบังคับให้ไทยยอมรับและปฏิบัติตามมติใดๆได้อีกต่อไป.
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๔ 

UNESCO ขึ้นทะเบียนเกาะโอกาซาวาระ- ฮิระอิมิสึ ของญี่ปุ่นเป็นมรดกโลก‏

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ ๒๖ มิ.ย. ว่า คณะกรรมการมรดกโลกได้ขึ้นทะเบียนเกาะโอกาซาวาระของญี่ปุ่นเป็นมรดกโลก แห่งที่ ๑๕ ในญี่ปุ่น ซึ่งเกาะดังกล่าวตั้งอยู่ทางตอนใต้ของโตเกียว ๑,๐๐๐ กิโลเมตร ถือเป็นส่วนหนึ่งของโตเกียว เป็นเกาะที่มีต้นไม้และสัตว์ที่หายากอยู่มาก อาทิ นกพื้นเมืองของเกาะโบนิน นอกจากนี้ UNESCO ยังได้ขึ้นทะเบียน ฮิระอิมิสึ สวนซึ่งมีวัดตั้งอยู่ด้วย สร้างขึ้นในปลายสมัยเฮอัน ใน จังหวัดอิวาเตะ เป็นมรดกโลกแห่งที่ ๑๖ ของญี่ปุ่นอีกด้วย
ที่มา : มติชนออนไลน์ วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๔ 

ฮิตระดับโลก! เศียรพระพุทธรูปหินทรายในต้นโพธิ์

"เศียรพระพุทธรูปหินทรายในต้นโพธิ์" วัดมหาธาตุ จ.พระนครศรีอยุธยา ฮิต ขึ้นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในเว็บไซต์ระดับโลก ส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาชมเศียรพระพุทธรูปหินทรายจุดนี้มากที่สุด.....
เมื่อวันที่ ๒๔ ธ.ค.วัดมหาธาตุ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากร แถลงข่าวเปิดโครงการให้บริการเครื่องโสตทัศนาจร(Audio Tours) ๒ ภาษาไทย- อังกฤษ ให้แก่นักท่องเที่ยวในพื้นที่มรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา นายเมธาดล วิจักขณะ ผอ.อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากร เปิดเผยว่า นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกได้แห่กันมาชม เศียรพระพุทธรูปหินทรายที่ถูกห่อหุ้มด้วยรากของต้นโพธิ์ ภายในวัดมหาธาตุ บริเวณพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา แหล่งมรดกโลก เนื่องจากจุดดังกล่าวได้รับการโหวตในเว็บไซต์ ท่องเที่ยวอันดับ ๑ ของโลก Tripadvisor ซึ่งเชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของยูเนสโก http://whc.unesco.org/en/list/576 ส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาชมเศียรพระพุทธรูปหินทรายจุดนี้มาก ที่สุด เมื่อเดินทางมาเที่ยวจังหวัดอยุธยา และก็นำถ่ายภาพในจุดนี้ไปโพสในเว็บไซต์ดังกล่าวมากที่สุดด้วย
นายเมธาดล กล่าวต่อไปว่า สำหรับเศียรพระพุทธรูปนี้ถูกห่อหุ้มด้วยรากต้นโพธิ์มาแล้วกว่า ๕๐ ปี ถือว่าเป็นอันซีนอินไทยแลนด์ ซึ่งชาวต่างประเทศมองว่าสวยงาม และเป็นสิ่งที่แปลกตา ที่สำคัญยังเข้าใจว่าองค์พระอยู่ใต้ต้นโพธิ์ และมีเศียรผุดขึ้นมา จึงได้รับความสนใจ และเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกัน วัดมหาธาตุ ถือเป็นหนึ่งในอุทยานประวัติศาสตร์แหล่งมรดกโลกของไทยที่ได้รับความนิยมจาก นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เมื่อนักท่องเที่ยวมาประเทศไทย ได้มาเจอกับเศียรพระพุทธรูปแห่งนี้ ก็นำไปเผยแพร่และเขียนบรรยายความรู้สึกในเว็บไซต์ Tripadvisor เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ในปี ๒๕๕๓ มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในยุโรปและเอเชียมาเที่ยวชมมรดกโลกอยุธยามากถึง ๑.๒ ล้านคน จาก ๙๒ ประเทศ อาทิ โปรตุเกส เยอรมัน ญี่ปุ่น ซึ่งประเทศแถบยุโรปถือเป็นอันดับ ๑ ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด
นางโสมสุดา ลียะวานิช อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กรมศิลปากร ได้ร่วมกับภาคเอกชน จัดทำโครงการให้บริการเครื่องโสตทัศนาจร(Audio Tours) ๒ ภาษาไทย- อังกฤษ ให้แก่นักท่องเที่ยวในพื้นที่มรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเหมือนกับที่หลายประเทศได้จัดทำขึ้นในโบราณสถานและสถานที่สำคัญระดับโลก อาทิ พิพิธภัณฑ์วาติกัน พิพิธภัณฑ์แวซายน์ พิพิธภัณฑือิยิปต์ บริสติสมิวเซียม เป็นต้น ในส่วนประเทศไทยจึงถือเป็นแห่งแรกของประเทศ ที่จัดทำขึ้นภายในอุทยานประวัติศาสตร์ของประเทศไทย เพื่อช่วยบรรยายจุดสำคัญของโบราณสถาน ให้กับนักท่องเที่ยว โดยการใช้งานเมื่อถึงจุดที่ระบุหมายเลขการชมจะตรงกับหมายเลขในเครื่องโสตฯ นักท่องเที่ยวสามารถกดหมายเลขตามจุดเพื่อรับฟังการบรรยาย ทำให้นักท่องเที่ยวเข้าใจประวัติศาสตร์และความเป็นมาของจุดนั้นๆได้อย่างถูก ต้อง อย่างไรก็ตาม จากนี้ไปกรมศิลปากร จะขยายไปยังแหล่งมรดกโลกอื่นๆ ได้แก่ สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร และบ้านเชียง เพื่อให้บริการนักท่องเที่ยว ให้ได้รับทราบข้อมูลทางประวัติศาสตร์อย่างถูกต้องต่อไป.
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๓

วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ผลจากการดูแลรักษาเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามานัสประสบความสำเร็จ ส่งผลให้ถูกถอนออกจากบัญชีรายชื่อแหล่งมรดกโลกที่อยู่ในภาวะอันตราย

การปรับปรุงและดูแลรักษาเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามานัสถูกเปลี่ยนสถานะจากแหล่งมรดกโลกที่อยู่ในภาวะอันตรายเป็นสถานะปกติ
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามานัสตั้งอยู่ในที่ลาดเชิงเขาหิมาลัย เป็นที่อาศัยของสัตว์ป่าหลายชนิด รวมถึงสัตว์ที่ใกล้สูญพันธ์ เช่น เสือ หมูแคระ แรดอินเดียและช้างอินเดีย โดยมรดกโลกแห่งนี้ถูกจารึกไว้ในบัญชีรายชื่อแหล่งมรดกโลกที่อยู่ในภาวะอันตรายตั้งแต่ปี ๑๙๙๒ หลังจากที่ได้ประกาศเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ ๗ ปี
คณะกรรมการมรดกโลกได้ให้เหตุผลว่าเป็นแหล่งมรดกโลกที่ได้รับการดูแลและปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ฟื้นตัวจากความเสียหายหรือจากอันตรายต่างๆที่มรดกโลกแห่งนี้ได้รับสมควรให้มีการถอนชื่อจากบัญชีรายชื่อแหล่งมรดกโลกที่อยู่ในภาวะอันตราย
ที่มา : News & Event UNESCO วันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๔

วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2554

คณะกรรมการมรดกโลกได้บรรจุเขตอนุรักษ์ชีวภาพรีโอ ปลาตาโนไว้ในบัญชีรายชื่อแหล่งมรดกโลกที่อยู่ในภาวะอันตราย ตามการร้องขอจากฮอนดูรัส‏

เขตอนุรักษ์ชีวภาพรีโอ ปลาตาโน ของฮอนดูรัส เป็นหนึ่งในป่าฝนเขตร้อนที่ยังเหลืออยู่ไม่กี่แห่ง ที่ยังคงมีอยู่ในอเมริกากลาง ได้รับการบันทึกลงในบัญชีรายชื่อแหล่งมรดกโลกที่อยู่ในภาวะอันตราย เพื่อกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวในการอนุรักษ์
โดยรัฐบาลของฮอนดูรัสได้ร้องขอไปยังคณะกรรมการมรดกโลกเพื่อให้บรรจุมรดกโลกแห่งนี้ลงในบัญชีรายชื่อมรดกโลกที่อยู่ในภาวะอันตราย ในด้านการถูกภาวะคุกคามจากระบบที่ผิดกฎหมาย การถูกรุกล้ำจากการทำประมงและการประกอบอาชีพ และการดูแลรักษาแหล่งมรดกโลกที่ลดความสำคัญลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการยืดหยุ่นของกฎหมายและการเพิ่มขึ้นของขบวนการค้ายาเสพติด
ในการร้องขอนี้ ฮอนดูรัสต้องการให้รับรู้ถึงคุณค่าของสถานที่นี้ ควรระบุไว้ในบัญชีรายชื่อที่อยู่ในภาวะอันตราย เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดการตื่นตัวของรัฐบาล ภาคประชาคมและความร่วมมือระหว่างประเทศ
เขตอนุรักษ์ชีวภาพรีโอ ปลาตาโน เป็นพื้นที่ที่มีชาวพื้นเมืองที่ยังคงมีวิถีการใช้ชีวิตแบบดั้งเดิมในป่าฝน ได้ถูกบันทึกเป็นแหล่งมรดกโลกของยูเนสโกในปี ๑๙๗๙ และเคยถูกบันทึกลงในบัญชีรายชื่อแหล่งมรดกโลกในภาวะอันตรายครั้งแรกระหว่างปี ๑๙๙๖ ถึง ๒๐๐๗
ที่มา : News & Events UNESCO วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๔

มรดกป่าฝนเขตร้อนในเกาะสุมาตราของประเทศอินโดนีเซีย ถูกบันทึกลงในบัญชีแหล่งมรดกโลกที่อยู่ในภาวะอันตราย

มรดกป่าฝนเขตร้อนในเกาะสุมาตรามีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการสนับสนุนในการป้องกันจากภาวะคุกคามต่างๆที่กำลังจะเข้ามาในพื้นที่ ๒.๕ ล้านเฮคเตอร์ของป่าฝนแห่งนี้ คณะกรรมการมรดกโลกจึงได้ตัดสินใจบรรจุมรดกโลกแห่งนี้ลงในบัญชีรายชื่อแหล่งมรดกโลกที่อยู่ในภาวะอันตรายในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ ๓๕ ที่กรุงปารีส
มรดกป่าฝนเขตร้อนในเกาะสุมาตรา ได้ถูกบันทึกเป็นแหล่งมรดกโลกในปี ๒๐๐๔ ในด้านของความหลากหลายทางชีวภาพ การบรรจุพื้นที่แห่งนี้ลงในบัญชีรายชื่อแหล่งมรดกโลกที่อยู่ในภาวะอันตรายเพื่อช่วยป้องกันจากอันตรายต่างๆที่คุกคาม การกระทำต่างๆที่ผิดกฎหมาย การบุกรุกทางการเกษตร และแผนการสร้างถนนผ่านพื้นที่แห่งนี้
ที่มา : News & Events UNESCO วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๔

ยูเนสโกวอนไทย-เขมรไกล่เกลี่ยขัดแย้ง ก่อนหาข้อสรุปปราสาทพระวิหาร

อิรินา โบโกวา ผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโกระบุ ต้องการเห็นการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชา เกี่ยวกับพื้นที่พิพาทรอบปราสาทพระวิหารก่อนที่จะมีข้อสรุปใดๆ เกี่ยวกับอนาคตของโบราณสถานแห่งนี้...
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ ๒๓ มิ.ย.ว่า นางอิรินา โบโกวา ผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโกระบุ ต้องการเห็นการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาเกี่ยวกับพื้นที่พิพาทรอบปราสาทพระวิหาร ก่อนที่จะมีข้อสรุปใดๆเกี่ยวกับอนาคตของโบราณสถานแห่งนี้ในฐานะของการเป็นมรดกโลก จากคณะกรรมการมรดกโลก (World Heritage Committee : WHC)
นางโบโกวา วัย ๕๘ ปี ซึ่งเป็นชาวบัลแกเรีย ระบุว่า ไทยและกัมพูชา ควรขอความช่วยเหลือจาก "คนกลาง" ในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากันในระหว่างการประชุมของคณะกรรมการมรดกโลก หลังจากที่ฝ่ายไทยแสดงจุดยืนที่ชัดเจนในการคัดค้านแผนบริหารของกัมพูชา ในการจัดการพื้นที่ปราสาทพระวิหารและพื้นที่พิพาท ๔.๖ ตารางกิโลเมตร และต้องการให้คณะกรรมการมรดกโลกเลื่อนการพิจารณาแผนฯดังกล่าวออกไปก่อน จนกว่าข้อขัดแย้งเรื่องพรมแดนจะได้ข้อยุติ
ท่าทีล่าสุดของผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโกมีขึ้นหลังจากที่การเจรจาระหว่างผู้แทนของรัฐบาลไทยและกัมพูชาในการประชุมประจำปีของยูเนสโกที่กรุงปารีส ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่วันอาทิตย์ (๑๙ มิ.ย. ๕๔) ที่ผ่านมา ยังไม่มีความคืบหน้า.
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๔

มุมมองแบบเต็ม||กลับไปที่ ข้อความมาร์คเผยข่าวจากสุวิทย์ยังเงียบ ชี้ยูเนสโกควรเลื่อนพิจารณาขึ้นทะเบียนออกไปก่อน

เมื่อเวลา ๑๐.๑๕ น.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการประชุมคณะมรดกโลกว่า ได้คุยกับนายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนเจรจาฝ่ายไทย ที่ไปประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ว่า อยู่ในขั้นตอนที่ไทยเสนอร่างข้อมติที่เห็นว่าควรเป็นมติของที่ประชุมเข้าไป และกัมพูชาก็เสนอมติของกัมพูชาเข้าไป ตอนนี้อยู่ในช่วงกำลังเจรจา และยังไม่ทราบรายละเอียดการพิจารณาในตอนนี้
เมื่อถามว่า ช่วงนี้มีข่าวว่ากัมพูชาล็อบบี้นานาชาติหนักมาก และอ้างว่าไทยโจมตีจนปราสาทพระวิหารเสียหาย นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ความจริงตรงกันข้าม ไทยยืนยันชัดว่าการพิจารณาแผนบริหารที่เขียนขึ้นฝ่ายเดียวจะทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น การเลื่อนวาระนี้ออกไปนั้น เป็นวิธีที่จะทำให้ทุกฝ่ายมาคุยกันได้ว่า ในแง่การแก้ปัญหาในพื้นที่และการอนุรักษ์ปราสาทนั้นควรทำอย่างไร โดยไทยได้ให้ข้อมูลไปเต็มที่ เมื่อถามว่า สิ่งที่ไทยเสนอไปนั้นจะโน้มน้าวที่ประชุมได้หรือไม่ เช่นแผนที่สามมิติ นายกฯกล่าวว่า คิดว่าทำงานต่อเนื่องและสำคัญคือร่างข้อมติของฝ่ายสำนักงานยูเนสโกที่เห็นว่าควรเลื่อนออกไป
เมื่อถามว่าเป็นห่วงสิ่งที่นายสุวิทย์ระบุไว้หรือไม่ว่ากลัวว่าไทยจะแพ้เสียงในที่ประชุม และเงื่อนไขที่ผอ.ยูเนสโกเสนอว่าควรให้สองประเทศพัฒนาพื้นที่ร่วมกันและเสนอให้กัมพูชาเลื่อนข้อเสนอออกไปตามที่ไทยเสนอไป เรื่องนี้มีความเป็นไปได้หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เป็นห่วง ส่วนข้อเสนอดังกล่าวยังไม่มีข้อเสนอเป็นรูปธรรมแบบนั้น แต่การให้กัมพูชาเสนอเพียงฝ่ายเดียวจะเป็นปัญหา ทุกฝ่ายควรเริ่มต้นคุยกันแล้วว่าทางเลือกอื่นคืออะไร แน่นอนว่าทุกฝ่ายควรมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตการบริหารจัดการพื้นที่ต่อไป
เมื่อถามว่า นายสุวิทย์แสดงความเป็นห่วงมือที่สามที่กลัวกว่าจะเข้ามาเกี่ยวข้อง นายกฯ กล่าวว่า ไม่ ต้องแยกว่า มีการพิจารณาเรื่องข้อมติที่ไทยต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและหลายฝ่ายเป็นห่วงความขัดแย้งที่เกิดขึ้น มันต้องช่วยกันทำความชัดเจนตรงนี้ว่า วิธีดีที่สุดที่จะเลี่ยงความขัดแย้งคืออะไร และอนาคตข้างหน้านั้นจะมีทางเลือกใดบ้าง แทนที่การเผชิญหน้าและมีปัญหาแบบนี้
เมื่อถามว่า หากไม่มีทางเลือก ใครจะกำหนดและตัดสินใจการถอนตัวออกมาจากการประชุม นายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจในการกำหนดท่าทีต่างๆอยู่เเล้ว ในชั้นนี้เป้าหมายสำคัญ คือ การทำให้ยอมรับว่าไม่เหมาะสมที่จะพิจารณาแผนการบริหารจัดการฝ่ายเดียวของกัมพูชา และยูเนสโกควรมีบทบาทในฐานะดูแลอนุรักษ์ตัวปราสาท จึงควรหาวิธีให้ทุกฝ่ายเข้าไปร่วมอย่างสร้างสรรค์ เมื่อถามว่ากัมพูชายืนยันว่าจะไม่ถอนแผนออกมา
นายกฯ กล่าวว่า ไทยก็ต้องยืนยันของไทย และกรรมการจะเป็นฝ่ายตัดสินใจ เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่าหากตกลงกันไม่ได้ในอนาคตนั้นไทยจะถอนตัวจากที่ประชุม นายกฯ กล่าวว่า อยู่ที่กรรมการและต้องดูท่าทีก่อน หากท่าทีของกรรมการยอมรับฟังเหตุผลของไทยและทำงานอย่างไว้วางใจกันและกัน เพราะเมื่อวันที่ผู้แทนพิเศษยูเนสโกมาพบตนนั้น ก็พูดกันชัดแล้วว่าควรเลื่อนการหารือเรื่องนี้ไปก่อน จึงควรยืนยันตามแนวทางที่คุยกับตนไว้
ที่มา : เนชั่นทันข่าว วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๔

ไทย-เขมร เริ่มเจรจาข้อพิพาทพระวิหารผ่านยูเนสโก แล้ว

การเจรจาระหว่างไทยและกัมพูชาเริ่มต้นขึ้น แล้ว โดยเป็นการเจรจาผ่านองค์การยูเนสโก โดยทั้งสองฝ่ายต่างทำบันทึกข้อตกลง เพื่อจะหาแนวทางที่เป็นที่ยอมรับ ทั้งสองฝ่าย...
คณะผู้แทนไทยเข้าพบกับผู้แทนของผู้อำนวยการยูเนสโก ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญของศูนย์ระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษาและบูรณะปฏิสังขรณ์ทรัพย์สมบัติทางวัฒนธรรม ล่าสุดยูเนสโก ได้ส่งร่างบันทึกข้อตกลงที่ฝ่ายไทยเสนอให้กัมพูชา แล้ว ส่วนกัมพูชาแจ้งว่า กำลังจัดทำร่างและจะส่งให้ในวันนี้
ด้านนายสุวิทย์ คุณกิตติ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หัวหน้าคณะผู้แทนไทยกล่าวว่า ผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโกประสงค์ให้มีผู้ไกล่เกลี่ยเนื่องจากเห็นว่าหากเจรจาแบบเผชิญหน้ากัน ก็จะมีแต่ความตึงเครียด อีกทั้งไม่อยากให้มีการโต้แย้งรุนแรงในที่ประชุมใหญ่ จึงไกล่เกลี่ยทีละฝ่าย เพื่อนำไปสู่การลงนามในบันทึกข้อตกลงที่ยอมรับกันได้ทั้ง ๒ ประเทศ เมื่อถึงวาระการพิจารณาแผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหาร คณะกรรมการมรดกโลกจะสรุปตามประเด็นที่ตกลงกัน
ทั้งนี้ หากภายใน ๑ - ๒ วัน ยังตกลงกันไม่ได้ คณะกรรมการอาจจะพิจารณาเลื่อนประชุมวาระนี้ ออกไปเป็นช่วงปลายสัปดาห์ ซึ่งคณะผู้แทนไทยเห็นว่า จะตกลงกันได้เร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับความจริงใจของกัมพูชา ที่จะหาทางออกอย่างสันติ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้ง 2 ฝ่าย
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๔

"บูโร"เห็นพ้องเลื่อนพิจารณาแผนบริหาร"พระวิหาร"อีก ๑ วัน‏

นายสุวิทย์ คุณกิตติ หัวหน้าคณะผู้แทนไทย ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ ๓๕ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรียังไม่ส่งสัญญาณใดเกี่ยวกับการพิจารณาแผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหาร มาที่ตนเอง ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการบริหารการประชุม หรือ บูโร เห็นพ้องให้เลื่อนวาระการพิจารณาแผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหาร พร้อมด้วย เยรูซาเล็ม โคโซโว เซอร์เบียร์ ออกไปเป็นวันถัดไป จนกว่าจะได้ร่างมติร่วมกันของคณะกรรมการ จึงจะนำกลับเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ขณะนี้คณะกรรมการมรดกโลกพยายามแก้ไขปัญหานี้ และผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก กำลังพบปะกับกัมพูชา จากนั้นจะเป็นการพูดจาทำความเข้าใจกับไทยอีกครั้ง
ทั้งนี้ นายสุวิทย์ยอมรับว่า การเจรจาครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกัมพูชาประกาศชัดเจนว่า จะนำแผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหาร เข้าสู่ที่ประชุม ส่วนการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก วันที่ ๔ ในช่วงบ่าย ไทยจะรายงานผลการดำเนินงานแหล่งที่ขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางธรรมชาติเขาใหญ่ ต่อที่ประชุมด้วย
ที่มา : ASTV ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๔

วันอังคารที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2554

นายกฯย้ำยึดเอ็มโอยู ค้านขึ้นมรดกโลกฝ่ายเดียว‏

นายกฯแจงแก้ปมปะทะกัมพูชา ชูแนวทางสันติวิธี ย้ำเป็นรัฐบาลแรกที่ต่อต้านการขึ้นทะเบียนมรดกโลกฝ่ายเดียวข้องใจพันธมิตรฯเคลือนเพื่ออะไร
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พูดในรายการ"เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์" เช้านี้ ถึงปัญหาชายแดน ไทย-กัมพูชา ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นั้นเมื่อมีการยิงเข้ามาในแผ่นดินไทย ทหารไทยจึงจำเป็นต้องปกป้องอธิปไตยและตอบโต้ไปในจุดที่ทหารเขาประจำการทั้งสิ้น ไม่ได้โจมตีกลับไปที่บ้านเรือนชาวบ้านของกัมพูชา อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาในระยะยาวนั้น ต้อง"แก้ไขปัญหาเขตแดนต้องแก้ด้วยสันติวิธี"
ส่วนการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชน เพื่อประชาธิปไตยนั้น นายกฯกล่าวว่าคาดตั้งแต่ต้นแล้วว่ากลุ่มพันธมิตรฯ จะประกาศยกระดับเช่นนั้น เพราะท่าทีไม่ยอมเจรจาตั้งแต่แรก ดังนั้นประชาชาชนควรฟังข้อมูลรอบด้าน
เนื่องจากเรื่องมรดกโลกนั้น รัฐบาลนี้เป็นผู้มาเข้ามาแก้ปัญหา เพราะที่ผ่านมาเราปล่อยให้ฝ่ายกัมพูชาขึ้นทะเบียนฝ่ายเดียว

มาร์คเตรียมร้องยูเนสโกระงับขึ้นทะเบียนพระวิหาร‏

นายกรัฐมนตรี เตรียมร้องยูเนสโก ระงับขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ชี้ยังเป็นพื้นที่พิพาท วอนคนไทยรวมใจเป็นหนึ่งสนับสนุนกองทัพ...
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แสดงความเสียใจ แถลงภายหลังหารือกับหน่วยงานด้านความมั่นคง และกระทรวงการต่างประเทศ ระบุเสียใจกับความสูญเสียของราษฎรไทย หลังทหารไทยปะทะกับทหารกัมพูชา พร้อมยืนยันไทยจำเป็นต้องตอบโต้เพื่อปกป้องอธิปไตยของประเทศให้ดีที่สุด หลังถูกโจมตีและล่วงล้ำอธิปไตยของไทยก่อน ซึ่งกระทรวงต่างประเทศ จะขี้แจงผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน ทั้งนี้ จะชี้ให้คณะกรรมการมรดกโลกเห็นว่าบริเวณปราสาทพระวิหาร เป็นพื้นที่ละเอียดอ่อน ไม่ควรเพิ่มความตรึงเครียดเพราะเสี่ยงต่อความสูญเสีย จึงควรระงับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกไว้ก่อน
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังระบุว่ากระทรวงการต่างประเทศ ได้ประสานไปยังกัมพูชาแล้ว ยืนยันปัญหาอยู่ในวิสัยที่สามารถแก้ไขได้ ตามกลไกของกรรมาธิการร่วมและจะไม่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น หากไม่มีการละเมิดเอ็มโอยูและเจบีซี
พร้อมกำชับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ ดูแลความปลอดภัยกับประชาชนผู้อพยพเข้ามาอย่างดีที่สุด
ทั้งนี้อยากขอให้ประชาชนชาวไทยรู้รักสามัคคีรวมใจกันเป็นหนึ่ง สนับสนุนกองทัพและเจ้าหน้าที่ พร้อมให้มั่นใจว่ารัฐบาลจะแก้ไขปัญหาอย่างดีที่สุด
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔

"ยูเนสโก"ให้ไทย-เขมรใช้ความอดกลั้น‏

องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ออกแถลงการณ์แสดงความเป็นห่วงต่อเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารของไทยและกัมพูชา ส่งผลให้มีการสูญเสียชีวิตและเกิดความเสียหายต่อตัวปราสาท สืบเนื่องจากกรณีความขัดแย้งการนำปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก นางเอริน่า โบโกวา ประธานยูเนสโก กล่าวในแถลงการณ์ว่า รู้สึกกังวลใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายใช้ความอดทนอดกลั้น เพื่อเห็นแก่ความปลอดภัยของตัวปราสาทพระวิหารอันเป็นโบราณสถานเก่าแก่ รวมทั้งขอให้มีการเปิดช่องทางการติดต่อแบบสายตรงระหว่างผู้มีอำนาจของทั้งสองประเทศเพื่อลดความตึงเครียดในพื้นที่
ที่มา : เนชั่นทันข่าว วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔

"จาตุรนต์"หนุนรบ.อย่าทำตามข้อเรียกร้องพธม. ให้ยึดเอ็มโอยู๔๓ อย่าถอนตัวกก.มรดกโลก‏

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวถึงกรณีการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.) ว่า ข้อเรียกร้อง ๓ ข้อของพันธมิตรและให้รัฐบาลดำเนินการภายใน ๒ วัน เป็นข้อเสนอที่ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาลก็ไม่ควรทำตาม เพราะเป็นข้อเรียกร้องที่มีแต่จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเสียหายมากยิ่งขึ้น และอาจจะเสียหายมากถึงกับกลายเป็นการกระทบกระทั่งหรือการรบกันระหว่างทหารของทั้งสองประเทศได้
"ปัญหาเขตแดนระหว่างประเทศนั้นควรแก้ด้วยการเจรจาหารือกัน การยกเลิกเอ็มโอยู ปี ๒๕๔๓ ไม่ควรทำอย่างยิ่ง การถอนตัวจากการเป็นกรรมการมรดกโลกก็เช่นกัน เพราะจะทำให้เสียโอกาสในการชี้แจงและที่ให้ทหารไทยผลักดันประชาชนกัมพูชาให้ออกจากพื้นที่พิพาทนั้น รัฐบาลไทยควรแก้ปัญหาโดยใช้หลักการตามที่กำหนดไว้ในเอ็มโอยู ปี ๒๕๔๓ ดีกว่าการเผชิญหน้ากันด้วยกองกำลังทหาร"
นายจาตุรนต์กล่าวว่า ขอเสนอให้รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาด้วยความรอบคอบ พยายามชี้แจงเหตุผลความเป็นมาให้ประชาชนเข้าใจ เคารพสิทธิของประชาชนในการชุมนุมและแสดงความคิดเห็น ไม่ใช้มาตรการหรือวิธีการใดๆ ที่รุนแรงเกินกว่าเหตุต่อประชาชนไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็ตาม
ที่มา : มติชนออนไลน์ วันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๕๔
เมื่อเวลา ๑๔.๐๐ น. วันที่ ๒๑ มกราคม ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ตลิ่งชัน มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จัดโครงการฝึกอบรมวิชาการ เรื่อง "เขตแดนของเรา เพื่อนบ้านอาเซียนของเรา" โดยตอนหนึ่งของหัวข้อ "กรณีศึกษาเขตแดนระหว่างประเทศ-ไทยกับเพื่อนบ้านและการแก้ไขปัญหาของมรดกโลก" นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ ประธานที่ปรึกษา โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAs) คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ทั่วโลกมีมรดกโลก ๙๑๑ แห่งในกลุ่มอาเซียน มี ๓๐ แห่งใน ๗ ประเทศ สำหรับไทยและกัมพูชานั้น แทนที่จะเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศก็กลายเป็นความขัดแย้ง แทนที่จะเป็นสันติสุข กลับเป็นสงคราม วิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าคือการเจรจาทวิภาคี กลับไปศาลโลก หรืออนุญาโตตุลาการ หรือทำสงครามแย่งชิง แต่วิธีแก้ปัญหาระยะยาวคือ การเสนอมรดกโลกร่วมทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ ข้ามเขตแดน เหนือพนมดงรักและลุ่มน้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่ทั้งของประเทศไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ควรมีการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวร่วมกัน

เขาใหญ่เตรียมลดปริมาณนักท่องเที่ยว‏

เมื่อเวลา ๑๙.๓๐ น.วันที่ ๓ ม.ค.๕๔ ผู้สื่อข่าวรายงานนักท่องเที่ยวจากบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ต่างหลั่งไหลกลับ ด้านด่านเนินหอม อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี กลับบ้านหรือไปทำงานตามปกติหลังพักผ่อนหยุดยาว
นายมาโนช การพนักงาน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มรดกโลก (พื้นที่รอยต่อ ๔ จังหวัด จ.ปราจีนบุรี จ.นครนายก จ.นครราชสีมา และ จ.สระบุรี) กล่าวว่า ในช่วงวันหยุดปีใหม่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มรดกโลกยังได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมาพักผ่อนโดยเฉพาะการกางเต้นท์ ปีนี้อากาศหนาวต่ำสุด ๙ องศาเซลเซียส
ทางอุทยานฯได้จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวสำเร็จ โดยลำตะคองและผากล้วยไม้จำกัดการกางเต้นท์แห่งละ ๑,๐๐๐ คน และที่กางเต้นท์สำรองอีกกว่า ๕,๐๐๐ คนจำกัดได้ผล มีนักท่องเที่ยวในวันหยุดยาวต่อเนื่องรวมวันละกว่า ๗,๐๐๐ คน ปี ๒๕๕๔ นี้ จะจำกัดลงอีกให้ไปอยู่ด้านนอก เพราะมีผลต่อปริมาณขยะ น้ำเสีย ได้รับความร่วมมือจากนักท่องเที่ยวได้ดี นายมาโนชกล่าว

ปิดอุทยานฯเขาพระวิหาร หลังเขมรถล่มยับ‏

อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารปิดโดยปริยาย หลังโดนกัมพูชาถล่มเสียหายยับ ย้ำจุดยืนไม่เจรจามรดกโลกจนกว่าจะมีการปักปันเขตแดนให้ชัดเจน ...
วันที่ ๗ ก.พ.๒๕๕๔ ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสุนันท์ อรุณนพรัตน์ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ขณะนี้อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร ซึ่งตั้งอยู่ในท้องที่ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ มีเนื้อที่ประมาณ ๘๑,๒๕๐ ไร่ หรือ ๑๓๐ ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศกัมพูชา ได้ปิดทำการอย่างปริยายแล้ว หลังจากที่ทหารกัมพูชาได้เปิดฉากยิงเข้าใส่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ ๔ ก.พ.ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ทำให้ที่ทำการอุทยานฯ เสียหายอย่างหนัก อาทิ อาคารสำนักงาน โดนสะเก็ดระเบิดกระจกแตก คอมพิวเตอร์พังเสียหาย ขณะที่บ้านพักก็โดนสะเก็ดระเบิด จนทำให้หลังคาพังลงมาทั้งหมด ค่าเสียหายประมาณ ๔ – ๕ แสนบาท
อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวอีกว่า สำหรับในส่วนของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ซึ่งมีทั้งหมด ๙ คน ได้อพยพลงมาแล้วและกองทัพภาคที่ ๒ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ทหารให้ขึ้นไปประจำการแล้ว เพื่อตอบโต้กับทหารกัมพูชา อย่างไรก็ตาม ยังมีอาวุธปืนของอุทยานฯ ประมาณ ๘ – ๙ กระบอกทั้งปืนเอชเคและปืนลูกซอง ที่ยังไม่ได้นำลงมา ทั้งนี้ จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ของอุทยานฯ ทราบว่าทหารกัมพูชา ได้เปิดฉากยิงใส่ประเทศไทยก่อน ทหารไทยจึงตอบโต้ เพราะถือว่ากัมพูชาละเมิดอธิปไตยของไทยก่อน
นายสุนันท์ กล่าวอีกว่า ส่วนการเจรจาเรื่องมรดกโลก ระหว่างไทยกับกัมพูชา ขณะนี้ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรฯ ยังไม่ได้สั่งการอะไรเป็นพิเศษ แต่กรมฯ ได้เตรียมข้อมูลสำหรับแผนพัฒนาประสาทเขาพระวิหารไว้แล้วสำหรับการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกในช่วงกลางปีนี้ที่ประเทศบาร์เรน ทั้งนี้ จุดยืนของประเทศไทย ยังเหมือนเดิม คือ จะไม่เจรจาจนกว่าจะมีการปักปันเขตแดนให้ชัดเจน เพราะเรื่องเขาพระวิหาร ประเทศไทยจะเสียเปรียบไม่ได้.
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔

ททท.ตีฆ้องงาน"มรดกโลกบ้านเชียง"‏

กระตุ้นการท่องเที่ยวภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการทำกิจกรรมร่วมกันในวันหยุด...
นายอภิชาติ อินทร์พงษ์พันธุ์ ผู้อำนวยการภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท.ร่วมกับจังหวัดอุดรธานี กำหนดจัดงาน "มรดกโลกบ้านเชียง" ระหว่างวันที่ ๑๑-๑๓ ก.พ. ณ เมืองมรดกโลกบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งถือเป็นแหล่งอารยธรรมของไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกลำดับที่ ๓๕๙ จากองค์การสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ โดยได้รับการยกฐานะให้เป็นแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์แห่งแรกที่มีความสำคัญในแถบเอเชียอาคเนย์
การจัดงาน "มรดกโลกบ้านเชียง" ครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการทำกิจกรรมร่วมกันในวันหยุด โดย ททท.ได้ประสานกับผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเพื่อจัดเตรียมกิจกรรมต่างๆไว้รองรับ อาทิ พิธีบวงสรวงและสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การต้อนรับบายศรีสู่ขวัญ และรับประทานอาหารแบบพาแลง พร้อมชมขบวนแห่อารยธรรมมรดกโลกบ้านเชียงสุดยิ่งใหญ่ โดย ททท.ยังได้จัดเตรียมความพร้อมของสถานที่ไว้รองรับนักท่องเที่ยวอย่างเพียงพอ.
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔

ยูเนสโกส่งทูตพิเศษตรวจสอบปราสาทเขาพระวิหาร

ยูเนสโกส่งอดีตผู้อำนวยการใหญ่เข้าตรวจสอบปราสาทพระวิหาร พร้อมเจรากับไทยและกัมพูชาเพื่อหาทางปกป้อง...
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าเมื่อวันที่ ๑๒ ก.พ. องค์การร่วมมือทางการศึกษา,วิทยาศาสตร์,และวัฒนธรรมระหว่างประเทศ หรือ ยูเนสโก ได้ส่งตัวนาย โคอิจิโร มัทซึอุระ อดีตผู้อำนวยการใหญ่ของยูเนสโกในฐานะทูตพิเศษเข้าตรวจสอบความเสียหายของประสาทพระวิหารที่ตั้งอยู่ในชายแดนไทย-กัมพูชา
ทั้งนี้ปราสาทพระวิหาร ถูกจารึกไว้ในฐานะมรดกโลกซึ่งได้รับความเสียหายจากเหตุความขัดแย้งของไทยและกัมพูชาเมื่อเร็วๆนี้ โดยนาย มัทซึอุระ จะเดินทางมายังพระวิหารโดยไปเยือนทั้งกรุงเทพและพนมเปญ เพื่อสนทนาแลกเปลี่ยนเพื่อหาทางป้องกัน โดยจะทำการตรวจสอบคู่กรณีทั้งสองฝ่ายเพื่อลดความตึงเครียดและสนับสนุนให้มีการพูดคุยกันเพื่อรักษามรดกโลกแห่งนี้ไว้
โดยทางผู้นับถือศาสนาฮินดู ได้แสดงความกังวลในรายงานความเสียหายและยินดีที่ทางยูเนสโกเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องวัดจากความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ราจาน เซด รัฐบุรุษของฮินดู ได้แถลงการณ์กล่าวถึงประชาสังคมโลก ยูเนสโก และอาเซียน ว่า ควรจะให้เงินทุนเพื่อบูรณะวัดของพระศิวะหลังนี้ โดยทันทีก่อนที่การปะทะของไทยและกัมพูชาจะเริ่มอีกครั้ง ไม่ควรอายที่จะรับผิดชอบต่อการรักษามรดกโลกซึ่งจะเป็นการเคารพต่อความรู้สึกของชาวฮินดูทั่วโลก
ราจาน เซด ยังได้ชี้ให้เห็นว่าสถานที่โบราณและปราสาทเขาพระวิหารมีความสำคัญอย่างยิ่งกับมรดกทางวัฒนธรรมของฮินดู จึงควรรักษาเพื่อให้สืบทอดไปยังรุ่นต่อไป แต่ความเสียหายของมรดกโลกจากศตวรรษที่ ๑๑ นี้ทำให้ชาวฮินดูทั่วโลกตกตะลึง เพราะพระศิวะเป็นหนึ่งในเทวดาที่สำคัญของศาสนาฮินดูที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างสวยงามพร้อมกับพระพรหมและพระนารายญ์ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของการเคารพบูชาในศาสนาฮินดู ปราสาทพระวิหารจึงควรได้รับการคุ้มครองและทำให้เหมือนดังเดิม.
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔

ชมมหัศจรรย์อาทิตย์ตก ๑๕ ช่องประตู เขาพนมรุ้ง‏

บุรีรัมย์-รักษาการหัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ เชิญประชาชนและนักท่องเที่ยวชมปรากฏการณ์มหัศจรรย์ดวงอาทิตย์ตกตรง ๑๕ ช่องประตูปราสาทพนมรุ้ง ช่วงวันที่ ๖-๘ มีนาคมนี้ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ๑ ปี เกิดเพียง ๔ ครั้ง
นางชุติมา จันทร์เทศ นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ รักษาการหัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า อยากเชิญประชาชนและนักท่องเที่ยวมาชมปรากฏการณ์มหัศจรรย์ดวงอาทิตย์ตกตรง ๑๕ ช่องประตูปราสาทพนมรุ้ง ที่ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นครั้งแรกของปีช่วงวันที่ ๖-๘ มีนาคมที่จะถึงนี้ ตั้งแต่เวลา ๑๗.๔๕-๑๘.๑๕ น. ตามที่นักดาราศาสตร์คำนวณและคาดการณ์ไว้ ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่หาชมยาก ๑ ปีมีให้ชมเพียง ๔ ครั้ง โดยดวงอาทิตย์จะตกตรง ๑๕ ช่องประตูปราสาท ๒ ครั้ง ระหว่างวันที่ ๖-๘ มีนาคม และ ๕-๗ ตุลาคม และขึ้นตรงอีก ๒ ครั้ง ในวันที่ ๓-๕ เมษายน และ ๘-๑๐ กันยายนของทุกปี
ปราสาทพนมรุ้งเป็นเทวสถานในศิลปกรรมขอมแห่งเดียวในโลกที่มีสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นการผสมผสานภูมิปัญญาด้านสถาปัตยกรรมที่ก่อสร้างปราสาทให้แสงอาทิตย์ส่องตรง ๑๕ ช่องประตู ผ่านศิวลึงค์ ที่เปรียบเสมือนองค์พระศิวะ ซึ่งตั้งอยู่ภายในปรางค์ประธานของปราสาทพนมรุ้ง ที่เปรียบเสมือนเขาไกรลาส บนสรวงสวรรค์ นอกจากประชาชนและนักท่องเที่ยวที่มาชมปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ขึ้นและตกตรง ๑๕ ช่องประตูปราสาทพนมรุ้ง ยังได้ชมความงามและความมหัศจรรย์ของปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ และแหล่งท่องเที่ยวโบราณสถานที่สำคัญอื่นๆ อีกหลายแห่งในจังหวัดอีกด้วย
นางชุติมา ยังกล่าวอีกว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติแต่ละปีจะมีประชาชนและนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวชมและศึกษาจำนวนมาก หากนักท่องเที่ยวสนใจก็เดินทางมาชมปรากฏการณ์ดังกล่าวได้
ที่มา : คมชัดลึก วันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๕๔

"พระวิหาร" ไทยเริ่มเครียด‏

รายงานข่าวจากแหล่งข่าวที่ร่วมเดินทางกับคณะผู้แทนไทยประชุมมรดกโลก ปารีส ประเทศฝรั่งเศส กล่าวว่า ตอนนี้คณะกรรมการมรดกโลกเริ่มแสดงท่าทีค่อนข้างชัดเจนเป็นแค่คนกลาง ส่วนการเจรจาแบบทวิภาคีเป็นเรื่องของคู่กรณีที่ผู้แทนหรือหัวหน้าคณะไทยกับกัมพูชาซึ่งอาจจะมีการเจรจานอกรอบหรือไม่ก็ได้เป็นสิทธิ์ของแต่ละฝ่าย ทั้งนี้คณะผู้แทนฝ่ายไทยได้พยามยามอธิบายเหตุผลของการเลื่อนแผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหารออกจากประชุมสมัยนี้ ซึ่งบรรยากาศการประสานกรรมการแต่ละประเทศเริ่มตรึงเครียด เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องของ ๒ ประเทศเจรจากันเอง
"ส่วนการตอบโต้หากที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกในวันที่ ๒๓ มิ.ย. ตามเวลาท้องถิ่นของฝรั่งเศส ซึ่งจะมีการพิจารณาวาระการรับรองแผนบริหารการจัดการปราสาทพระวิหารของกัมพูชาในวาระที่ ๖๒ หากเกิดว่ามติคณะกรรมการฯ เห็นชอบแผนบริหารการจัดการดังกล่าว ในเบื้องต้นมาตรการของไทยอาจจะขอถอนออกจากคณะกรรมการฯ ๒๑ ประเทศซึ่งตอนนี้แนวโน้มยัง ๕๐ ต่อ ๕๐ เปอร์เซ็นต์อยู่ อย่างไรก็ตามวาระที่ ๖๒ อาจจะมีการเลื่อนการพิจารณาวันที่ ๒๓ มิถุนายนออกไป เนื่องจากการประชุมวันแรกยังมีวาระค้างอยู่ ๒ เรื่อง" แหล่งข่าว กล่าว
ที่มา : เนชั่นทันข่าว วันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๔

ไทยลุ้น!! ขึ้นทะเบียนมรดกโลกแก่งกระจาน‏

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งนี้ ไทยเสนอให้กลุ่มป่าแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี อยู่ในบัญชีรายชื่อมรดกโลก หลังจากคณะกรรมการมรดกโลกจะรวบรวม และส่งทีมเข้าตรวจสอบพื้นที่
กลุ่มป่าแก่งกระจานมีความโดดเด่น มีพื้นที่กว่า ๓ ล้านไร่ บนเทือกเขาตะนาวศรี ต่อเนื่องระหว่างผืนป่าตะวันตก ผืนป่าพม่า และผืนป่าภาคใต้ ทำให้คุณค่าโดดเด่นลักษณะสากล มีความหลากหลายทางชีวภาพของพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์หายาก เช่น สมเสร็จ นกเงือก จระเข้น้ำจืด ที่พบในลุ่มน้ำเพชรบุรี นอกจากนี้ยังเป็นกลุ่มป่า ๑ ใน ๒ ของแหล่งอาศัยของเสือโคร่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ความโดดเด่นของกลุ่มป่าแก่งกระจาน คาดว่าจะทำให้คณะกรรมการมรดกโลก ขึ้นบัญชีมรดกโลกชั่วคราว หากได้ขึ้นเป็นบัญชีมรดกโลกชั่วคราวแล้ว ต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบเพื่อจัดทำรายงาน โดยคณะกรรมการมรดกโลกจะส่งคณะกรรมการเฉพาะกิจของสหพันธ์อนุรักษ์โลก หรือ IUCN เข้าตรวจสอบ
ทั้งนี้ วาระการประชุมบรรจุเรื่องนี้ไว้ลำดับที่ ๑๘ ที่จะมีการพิจารณาในช่วงบ่ายวันที่ ๒๒ มิถุนายนนี้ ส่วนกรณีโครงการขยายถนน ๓๐๔ ตัดผ่านผืนป่ามรดกโลกเขาใหญ่-ทับลาน หลังจากหารือนอกรอบกับคณะกรรมการ IUCN ซึ่งไม่ติดใจประเด็นการขยายถนน ๓๐๔ นอกเขตอุทยาน แต่ช่วงที่ผ่านอุทยาน ไทยได้ทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาชี้แจง ซึ่งมีความเข้าใจตรงกัน รวมทั้งจะลงพื้นที่ตามคำเชิญของไทยด้วย
ที่มา : ASTV ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๔